กรณี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติและเพิ่มเติมมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน จากการคำนวณเอฟทีปกติในรอบ ม.ค. – เม.ย. 67 ส่งผลให้เอฟทีใหม่ในรอบดังกล่าวลดลงจาก 89.55 สตางค์ต่อหน่วยเหลือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยตามมติ ครม. ทั้งยังคำนึงถึงต้นทุนการผลิต LPG อย่างเหมาะสมนั้น
ล่าสุด นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 887) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 67 มีมติเห็นชอบเอฟทีขายปลีกเรียกเก็บสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 จำนวน 39.72 สตางค์ต่อหน่วยตามสูตรการคำนวณเอฟที ทั้งนี้ได้ปรับปรุงการคำนวณดังกล่าวตามมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2566 (ครั้งที่ 166) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 66 โดยมีรายละเอียดการปรับปรุงการคำนวณ ดังนี้
1. วันที่ 29 พ.ย. 66 กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 53/2566 (ครั้งที่ 881) มีมติเห็นชอบเอฟทีขายปลีกเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (โครงสร้างการคิดราคา Pool Gas แบบเดิมตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน)
2. ปรับปรุงตามมาตรการที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 25.37 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.43 บาทต่อหน่วย
3. ปรับปรุงราคาประมาณการ Spot LNG จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 14.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้สามารถลดค่าเอฟทีลงได้ 9.98 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.34 บาทต่อหน่วย
4. ปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 10.01 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.23 บาทต่อหน่วย
5. เรียกเก็บ Shortfall กรณีที่ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2563 – 2565 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และให้ ปตท. ส่งผ่านเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท โดยให้นำมาลดค่าก๊าซในรอบเอฟทีงวด ม.ค. – เม.ย. 67 ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 4.47 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยโดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าราคาค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 จะปรับลดลงตามแนวทางการคำนวณค่าเอฟทีใหม่ตามมติ กพช. และ ครม. แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไปจะขึ้นกับราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้น สำนักงาน กกพ. ยังคงต้องติดตามความสามารถของการส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการจัดหา LNG เพิ่มเติมสอดคล้องกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาค่าไฟฟ้าคงต้องคำนึงถึงภาระเอฟทีคงค้างที่ต้องส่งคืน กฟผ. และ ปตท. ในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป จึงอยากให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการนำเข้า LNG และลดความผันผวนของราคาพลังงาน