กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 มีมติคงดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อไป ชี้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงินกนง. ) แถลงผลการประชุม กนง. โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

โดยกนง. มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ สำหรับปี 2567 ปัจจัยลบดังกล่าวจะทยอยลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ตามการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เร่งตัวแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles