กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างพร้อมเข้าร่วมประชุมค่าจ้างพรุ่งนี้ หวังต่อรองเงื่อนไขการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วอนฝ่ายการเมืองอย่าแทรกแซง

กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างพร้อมเข้าร่วมประชุมค่าจ้างพรุ่งนี้ หวังต่อรองเงื่อนไขการปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วอนฝ่ายการเมืองอย่าแทรกแซง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนึ่งในกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อสรุปการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย. 2567) กรรมการฝั่งนายจ้างจะเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อต่อรองเงื่อนไขการปรับขึ้นค่าจ้าง แม้จะเห็นสัญญาณชัดจากฝั่งรัฐบาลที่ต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยฝั่งนายจ้างมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงในรอบนี้ เนื่องจากในปีนี้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง แล้วเหตุใดจึงต้องเร่งปรับขึ้นค่าแรงให้เป็น 400 บาทในปีนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะเอานโยบายการเมืองมาแทรกแซงการพิจารณาค่าจ้าง เพราะธงของการเมือง คือ เป้าหมายที่จะผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ระดับ 600 บาท

อย่างไรก็ดีมองว่า หากปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1. ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทตามขนาดกิจการ คือ กลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งหากการปรับขึ้นค่าแรงไม่รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีอยู่กว่า 3.2 ล้านกิจการ การจ้างงานกว่า 12 ล้านราย ลูกจ้างกลุ่มนี้ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ และอาจทำให้เกิดการไหลของแรงงานไปอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ และ 2. ปรับขึ้นค่าแรงตามกลุ่มกิจการ ยิ่งอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านค่าแรงมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันการปรับค่าแรงจะทำให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์มากกว่า 2.5 ล้านคน จากทั้งหมด 3.3 ล้านคน

สอดคล้องกับนายอรรถยุทธ ลียะวณิช หนึ่งในกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เตรียมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อสำคัญ คือ ขอไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการปรับขึ้นค่าแรง ขอให้คณะกรรมการพิจารณาด้วยความเป็นธรรม และขอให้ทุกอย่างดำเนินตามกฏหมายและข้อระเบียบที่มีอยู่ ทั้งนี้ตามหลักแล้ว การประชุมไม่จำเป็นจะต้องให้ได้ผลสรุปการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ภายในวันพรุ่งนี้ แต่เชื่อว่าต้องการผลักดันก่อนที่ปลัดกระทรวงแรงงานจะเกษียณอายุราชการ

ส่วนประเด็นที่ที่ระบุว่า การประชุมไตรภาคีเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้างบอยคอต ทำให้การประชุมล่มนั้น ข้อเท็จจริง ฝ่ายนายจ้างได้ส่งหนังสือแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าไม่สามารถเข้าร่วมได้เนื่องจากติดภารกิจจำเป็น ซึ่งปกติแล้ว การประชุมไตรภาคีจะมีตารางประชุมที่ชัดเจน คือ ทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน หากประธานไม่ว่าง และจะต้องเปลี่ยนแปลงวันประชุมเป็นอื่น จะต้องสอบถามองค์ประชุมและกำหนดวันที่ว่างตรงกัน ซึ่งวันดังกล่าวทางฝ่ายนายจ้างแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่ทางกระทรวงก็ยังดื้อแพ่งที่จะประชุม จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles