นายสึโยชิ ฮาชิมูระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน หรือซีเอฟโอ กลุ่มบริษัทอิโตชู (Itochu) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ในธุรกิจซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หรือเทรดดิ้งชั้นนำระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า กลุ่มอิโตชูยุติการลงทุนถือหุ้นข้ามบริษัทในเครือกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพีของประเทศไทย ที่ลงทุนมาเป็นเวลานานถึง 10 ปี การสิ้นสุดการลงทุนดังกล่าวจะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึงนี้
การปิดฉากลงทุนอย่างยาวนานถึง 10 ปีดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มบริษัทอิโตชูได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานรวมกับกำไรจากส่วนต่างการขายหุ้นทั้งหมดออกจากการลงทุน รวมสะสม 120,000 ล้านเยน หรือ 841 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 27,753 ล้านบาท ถือว่าเป็นการร่วมลงทุนที่ดีสำหรับอิโตชู
สาเหตุที่กลุ่มบริษัทอิโตชูยุติการลงทุนกับกลุ่มซีพีด้วยการขายหุ้นทั้ง 25% ทั้งหมดในบริษัทซีพี โภคภัณฑ์ หรือ CPP ซึ่งเป็นบริษัทแกนหลักของกลุ่มซีพีนั้น ซีเอฟโอ กลุ่มบริษัทอิโตชู กล่าวว่า เนื่องจากนับตั้งแต่เดือนเมษายนผ่านมา อิโตชูได้เงินสดประมาณ 170,000 ล้านเยน หรือกว่า 38,760 ล้านบาท มาจากเงินปันผลพิเศษ และการขายหุ้น การขายหุ้นทั้งหมด 25% ออกจากบริษัทซีพีพีในครั้งนี้จะส่งผลให้มีกําไรเพียงครั้งเดียวประมาณ 88,000 ล้านเยน หรือกว่า 20,064 ล้านบาทภายในปีสิ้นสุดปีงบประมาณเดือนมีนาคม 2026 นี้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอิโตชูยังคงลงทุนกับกลุ่มซีพีในธุรกิจเนื้อหมูในแคนาดาที่มีชื่อว่าฮายไลฟ์ แคนาเดียน และในธุรกิจอื่นๆ ด้วย บริษัทฯ มีธุรกรรมทางธุรกิจกับซีพีในธุรกิจอื่นๆ เช่น อาหาร โลหะ เคมีภัณฑ์ ซึ่งมียอดขายรวมปีละประมาณ 50,000 ล้านเยน หรือกว่า 11,400 ล้านบาท และสามารถจะให้ความร่วมมือกันได้ถึงแม้ว่ากลุ่มอิโตชูและกลุ่มซีพีจะไม่ได้ถือหุ้นลงทุนซึ่งกันและกันอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม รายได้ของกลุ่มอิโตชูที่ขาดทุนมาถึง 3 ปีติดต่อกันจากการลงทุนในบริษัทซีพี โภคภัณฑ์ หรือซีพีพี เมื่อนับถึงสิ้นสุดปีงบประมาณเมื่อเดือนมีนาคม 2024 ผ่านไป เป็นหนึ่งในปัจจัยของการตัดสินใจยุติการลงทุนทั้งหมดกับบริษัทซีพีพีหรือไม่นั้น ซีเอฟโอ กลุ่มบริษัทอิโตชู กล่าวว่า หลักการการลงทุนของกลุ่มบริษัทอิโตชูระบุชัดเจนว่า ธุรกิจใดก็ตามที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันถึง 3 ปี จะต้องยุติและถอนการลงทุนทั้งหมด
ซีเอฟโอ กลุ่มบริษัทอิโตชู กล่าวต่อไปว่า บริษัทซีพี โภคภัณฑ์ หรือซีพีพี มีผลการดำเนินงานขาดทุนมีสาเหตุจากความผันผวนของราคาหมูในประเทศจีน และเวียดนาม ดังนั้น เมื่อการลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยงของภาวะผันผวนของตลาดหมูจึงไม่เป็นสิ่งที่ดีแน่ กลุ่มบริษัทอิโตชูจึงตัดสินใจดังกล่าว
ซีเอฟโอ กลุ่มบริษัทอิโตชู กล่าวต่อไปว่า แม้จะเป็นบริษัทใหญ่ทั้งคู่ก็ตาม ในแง่ความแตกต่างในนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มบริษัทอิโตชูต้องยกเลิกการลงทุนทั้งหมดนั้น ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นพันธมิตรมานานกว่า 10 ปี และมีความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจระหว่างผู้นำของทั้ง 2 บริษัท
กลุ่มซีพีก็ยังทําธุรกิจในประเทศแถบเอเชีย เช่น ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย และร้านค้าปลีกในอินเดีย แนวทางการทำธุรกิจดังกล่าวไม่ได้เป็นสถานการณ์ของมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มบริษัทอิโตชู และกลุ่มซีพี