ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาท อ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟดซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งค่าขึ้นตามสัญญาณสะท้อนความตึงเครียดของสงครามการค้า หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า จะมีการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทุกประเทศ และจะมีการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่มีการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะพลิกแข็งค่ากลับมาตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนเนื่องจากตลาดประเมินว่า มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ อาจจะยังไม่เริ่มในเร็วๆ นี้
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 10-14 ก.พ. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,106.5 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,654.8 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 135.7 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,519.1 ล้านบาท)
ส่วนในสัปดาห์นี้ (17-21 ก.พ. 2568) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของไทย สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและสถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 28-29 ม.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน