นายสุทธิพงศ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กล่าวว่า ประเทศไทยเตรียมจะเริ่มต้นใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ( SAF ) สัดส่วน 1% ของปริมาณการใช้น้ำมันในปี 69 ซึ่งดูจากสิงคโปร์ก็ใช้สัดส่วน 1% โดยกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพในการกำหนดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ได้หารือกับสายการบิน ผู้ผลิตน้ำมัน ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสายการบินที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำมัน SAF ที่ยังมีราคาสูงอยู่ ขณะที่ผู้ผลิตต้องพูดคุยเจ้าของวัตถุดิบกระทรวงพลังงาน ทำให้ได้ข้อสรุปช่วงแรก ใน 1-2 ปีแรกจะใช้สัดส่วนน้ำมัน SAF ที่ 1% ก่อน และค่อย ๆ ขยับสัดส่วนเป็นไม่เกิน 5% ภายในปี 72
ทั้งนี้ เท่าที่คุยกับกระทรวงพลังงานจะผสมน้ำมันเครื่องบินที่จะเติมก็จะไม่มีน้ำมันฟอสซิลอีกต่อไปเมื่อเราเริ่มบังคับ น้ำมันทั้งหมดก็จะมีส่วนผสมน้ำมันที่เป็น SAF 1% เข้าไปเลย แต่ก็ยังต้องมีรายละเอียดที่ต้องสรุปเล็กน้อย เช่นอาจจะใช้วิธีที่ใช้ตัวเลขรวมให้ได้ 1% เรากำลังเผื่อปัญหาในเชิงปฏิบัติ บางสถานีอาจจะไม่สะดวกที่จะมีส่วนผสม SAF เข้าไปจำหน่ายหรือเติม ขอรอเวลาที่จะตกผลึกกับทางหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง และอีกเรื่องในการจัดการห้วงอวกาศมีความคล่องตัว ซึ่งห้วงอวกาศเป็นของประเทศที่มีการบริหารจัดการให้คล่องเพื่อลดการใช้พลังงานได้ “เรื่องนี้เป็นหนึ่งใน 4 เสาหลัก ไปสู่เป้าหมาย NET Zero เรื่องนี้สำคัญ สำนักงานฯทำงานกับสายการบินของไทยโดยเฉพาะสายการบินประเทศไทย มาโดยตลอด เรื่องสำคัญที่สุด ที่บ้านเราที่ต้องคำนึงกันมาก ๆ และรวมพลังกันทำคือการจัดการห้วงอากาศของประเทศให้มีการใช้งานแบบ Flexible Spaces”นายสุทธิพงษ์ กล่าว
CAAT มีโรดแมป 2 เรื่องที่ทำไปพร้อมกัน คือการทำถึงเป้า Net Zero ในปี 2050 และ เรื่องการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) เป็นมาตรการที่กำหนดให้สายการบินทั่วโลกอาศัยตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ไม่สามารถลดได้จากการใช้เทคโนโลยี การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) แต่อย่างไรก็ดีในที่สุดก็ต้องเป็น Net Zero ที่การปลูกป่าก็ใช้ไม่ได้แล้ว
นายสุทธิพงศ์ กล่าวว่าการนำน้ำมัน SAF จะทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายสูง 3-4 เท่า คนที่รับผลกระทบคือผู้โดยสารที่จ่ายเพิ่มจากต้นทุนที่สูงขึ้น เราอาจจะต้องหากลไกที่จะลดผลกระทบ เช่น รัฐบาลให้การ Subsidy
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดหาน้ำมัน SAF เข้ามาใช้ทดสอบกับเครื่องบินของบริษัทแล้ว พบว่าสามารถทำการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความพร้อมที่จะเริ่มใช้น้ำมัน SAF มาเป็นส่วนผสมในน้ำมัน Jet A1 สัดส่วน 1% ตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ภายในปี 2569 โดยยังไม่มีนโยบายปรับราคาจำหน่ายตั๋วโดยสาร
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมัน SAF ณ ปัจจุบันยังคงสูงกว่าราคาน้ำมัน Jet A1 ถึงราว 3 เท่า จึงคาดหวังว่าเมื่อมีการผลิตมากขึ้นราคาจะทยอยปรับตัวลง อย่างไรก็ตามในระยะสั้นผู้ประกอบการสายการบินยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขั้นถึงราว 5% ไว้ในระดับหนึ่ง จึงหวังในระยะกลาง และระยะยาวว่าหน่วยงานภาครัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนทั้งผู้ผลิต และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินให้สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมการบินโลก