นายภูมิจิตต์ พงศ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ยสท. ได้ศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ ทั้งแบบ 1, 2 และ 3 อัตรา (Tier) และเสนอให้กรมสรรพสามิตพิจารณาแล้ว โดยในแต่ละรูปแบบอัตราภาษีจะมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรมสรรพสามิต และกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ยอมรับว่าข้อเสนอเรื่องอัตราภาษีแบบ 3 Tier เป็นแนวทางสำคัญที่ ยสท. ได้มีการศึกษา โดยมองว่าอัตราภาษีแบบดังกล่าว จะมีผลสำคัญเพื่อช่วยแก้ปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นถึง 25.4% หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งแรกเมื่อปี 2560 ซึ่งขณะนั้นมีบุหรี่ผิดกฎหมายทะลักเข้ามาเพียง 4-5% เท่านั้น
โดยเมื่อมีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ปรับสูงขึ้น ทำให้บุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาสัดส่วนบุหรี่ผิดกฎหมายที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนทำให้ประชาชนหันไปบริโภคเพิ่มขึ้นในขณะนี้
“หากมีการใช้อัตราภาษีบุหรี่แบบ 1 Tier จะเป็นอันตรายกับ ยสท. เรียกว่าตายแน่นอน เพราะราคาบุหรี่นำเข้า ก็จะถูกปรับลดลงมา ทำให้แตกต่างกับราคาขายปลีกบุหรี่ของ ยสท. เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้บริโภคก็อาจจะหันไปบริโภคบุหรี่นอกแทน ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย” นายภูมิจิตต์ กล่าว
อัตราภาษีบุหรี่แบบ 3 Tier จะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ลดลง ซึ่งอาจทำให้กระทรวงสาธารณสุข ไม่เข้าใจและมองว่าเป็นการสนับสนุนให้มีการเข้าถึงและบริโภคเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องนำข้อมูลตัวเลขทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบ มาคุยกันถึงข้อดี-ข้อเสีย ทั้ง 2 ส่วน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบุหรี่ผิดกฎหมายโตก้าวกระโดดมาก ยิ่งช่วงหลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าที่คนรุ่นใหม่หันไปบริโภคมากขึ้น ทำให้ตลาดบุหรี่ตอนนี้เล็กลงมาก ๆ หดตัวประมาณ 10% ต่อปี สุดท้ายจะกลายเป็นบุหรี่นอก กับ ยสท. ต้องมาชิงตลาดกันเอง ซึ่งตลาดก็มีขนาดเล็กอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา ยสท. ได้มีการปรับตัว ภายหลังจากแนวโน้มตลาดบุหรี่ในประเทศปรับตัวลดลง โดยหันไปเน้นการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เคยพึ่งพาการจำหน่ายบุหรี่ในประเทศสูงถึง 90% ขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งระบายสต็อกใบยาสูบ ที่คงค้างกว่า 30 เดือนเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นการส่งออกใบยาเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2567 ยสท. มีกำไรสูงถึง 700 กว่าล้านบาท และมีกำลังการผลิต 1.1-1.2 หมื่นล้านมวน