กิจการเกิน 100 ปีในญี่ปุ่นแห่ล้มละลายพุ่งเกือบ 100% ในครึ่งปีแรก ล้มละลายมากสุดใน 24 ปี

ธุรกิจ กิจการเกิน 100 ปีในญี่ปุ่นแห่ ล้มละลาย พุ่งเกือบ 100% ในครึ่งปีแรก ล้มละลายมากสุดใน 24 ปี

เทโกกุ ดาต้าแบงค์ เปิดเผยว่า บริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นที่มีอายุมานานกว่า 100 ปี ต้องล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นถึง 95% ในช่วงระยะเวลาหกเดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2023 ผ่านมา ในรายละเอียดยังพบว่ามีจำนวนคดีของบริษัทล้มละลายถูกพิจารณาในศาลเป็นจำนวน 74 แห่ง ส่งผลทำสถิติจำนวนบริษัทล้มละลายในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ที่มากที่สุดในรอบ 24 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

ที่สำคัญมีความเป็นไปได้ที่จำนวนบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปในปีนี้ จะล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 120 แห่งซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากที่สุดครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2008 หรือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันติดปากว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

ข้อมูลดังกล่าวยังพบว่า มีบริษัทจำนวน 14 แห่งต้องล้มละลายเนื่องจากต้นทุนในการดำเนินธุรกิจพุ่งสูงเป็นอย่างมาก ในขณะที่มีอีก 11 แห่งล้มละลายสาเหตุจากไม่มีนักลงทุนหรือผู้สนใจที่จะเข้าซื้อกิจการต่อจากเจ้าของกิจการที่มีมีอายุมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากประเภทของกลุ่มอุตสาหกรรม หรือประเภทธุรกิจธุรกิจมีอายุเกินกว่า 100 ปี ล้มละลายในญี่ปุ่น พบว่า 30% เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต และอีก 30% ธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตซึ่งมีอายุมาอย่างยาวนานต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการปรับปรุงอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ใช้มาอย่างยาวนานตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น

เทโกกุ ดาต้าแบงค์ เปิดเผยว่า อาโอกิ แมนเนนโด ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผลิต ขนมหวานรสชาติญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมมานาน ซึ่งตั้งอยู่ภายในกรุงโตเกียวและดำเนินกิจการมานานกว่า 200 ปี เป็นหนึ่งในตัวอย่างของบริษัทที่มีอายุมาอย่างยาวนานและเป็นระดับตำนานต้องประกาศเข้าสู่ภาวะล้มละลายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สาเหตุจากธุรกิจดังกล่าวต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงดูแลรักษา รวมถึงค่า รายจ่ายอื่นๆที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด โควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นนั้นทำให้กิจการต้องปิดสาขาและลดชั่วโมงการให้บริการในการขายสินค้าตามนโยบายล็อกดาวน์ป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวขาดสภาพคล่องเงินสดเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่ปริมาณของลูกค้ายังไม่กลับมาเหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 จึงส่งผลให้จำเป็นต้องปิดสาขาหลายแห่งและนำมาสู่ภาวะการล้มละลาย

มิทานิย่า ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจร้านของชำที่มีชื่อเสียงและเป็นระดับตำนานแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1858 หรือ 166 ปี ต้องล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายร้านขายของชำดังกล่าวนั้นมีฐานธุรกิจอยู่ที่ฮิโรชิมา ต้องเผชิญกับภาวะการดำเนินกิจการที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องถึงสี่ปีรวมถึงการแข่งขันร้านค้าปลีกที่เข้มข้นและรุนแรง จากร้านขายยาและ ร้านคู่แข่งในประเภทเดียวกันจำนวนมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อเดือนกันยายนปี 2023 พบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีบริษัทที่ก่อตั้งมาเป็นระดับตำนาน หรือมีอายุกิจการมากกว่า 100 ปีขึ้นไปนั้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 43,631 แห่ง ในแต่ละปีจะมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีมีอายุครบ 100 ปีเป็นจำนวนปีละประมาณ 2,000 แห่ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎามคมผ่านมา โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช ซึ่งเป็นสำนักวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน 2024 มีจำนวนธุรกิจเอกชนประกาศล้มละลายเป็นจำนวนมากถึง 4,931 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2023 ส่งผลให้ยอดกิจการภาคเอกชนล้มละลายสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา นอกจากนี้ จำนวนล้มละลายดังกล่าวนับเป็นการล้มละลายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 นั้น มีจำนวนธุรกิจเอกชนประกาศล้มละลายเป็นจำนวนมากถึง 4,042 แห่ง ทำสถิติล้มละลายสูงสุดในรอบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ที่สำคัญ มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนธุรกิจจะล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นเกิน 10,000 แห่งภายในสิ้นปี 2024 นี้

อย่างไรก็ตาม มูลค่าหนี้สินที่เกิดจากภาวะล้มละลายของภาคเอกชนในญี่ปุ่นในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2024 นี้ มีทั้งสิ้น 721,040 ล้านเยน หรือกว่า 173,176 ล้านบาท ซึ่งลดลง 22.8% เนื่องจาก กว่า 88.4% ของบริษัทที่ล้มละลายนั้นเป็นบริษัทขนาดเอสเอ็มอี หรือกิจการขนาดกลางและเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles