ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และการขึ้นภาษี Reciprocal Tariffs หรือภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่ไทยโดยเรียกเก็บ 37% การค้าโลกได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไปยังสหรัฐ ประเมินผลกระทบต่อเอเชียทั้งหมดประมาณ 0.6% ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศในเอเชียอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยส่งออกต่อจีดีพีสูง หากอัตราภาษีที่ 36-37% อยู่ไปตลอดทั้งปีนี้ จะเป็นลบต่อจีดีพีไทยที่ 1.1% และเศรษฐกิจไทยที่ประเมินไว้ที่ 2.3% จะลดลงไปที่ 1%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าได้ประเมินผลกระทบในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าขนาดผลกระทบดังกล่าวอยู่ที่ 1.0% ของจีดีพี ส่งผลให้ทั้งปี 2568 จีดีพีไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 1.4% เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นโยบายการเงินการคลังอาจต้องผ่อนคลายมากกว่าที่ประเมิน โดยมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับลดเร็วขึ้นในเดือนเมษายนนี้ และปรับลดเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs จากหลายประเทศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในรอบกว่า 100 ปี จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศกับไทยที่ 36% TISCO ESU คาดการณ์ว่าะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากราว 1.35% จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% จะลดเหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มองว่ามีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมรอบที่ 2/2025 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ภายในสิ้นปีนี้