ศูนย์วิจัย SCB EIC เปิดเผยว่าตลาดที่อยู่อาศัยในไทยนั้น การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้คนยังต้องคำนึงถึงปัจจัยการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ และปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนด้านการทำงานอยู่ที่บ้าน ตลาดที่อยู่อาศัยในไทยจึงได้รับผลกระทบจากการทำงานรูปแบบ Hybrid workplace ทำให้ปัจจัยทั้งการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศและปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนด้านการทำงานอยู่ที่บ้าน จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่
ผลสำรวจ SCB EIC Residential real estate survey 2023 ในเดือนมีนาคม 2023 จากผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,479 คน พบว่า ราคาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ปัจจัยด้านทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง ใกล้ที่ทำงาน หรือที่เรียน รวมถึงใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ขณะที่ปัจจัยด้านพื้นที่ใช้สอยถูกลดความสำคัญลงไป แตกต่างจากผลสำรวจ SCB EIC Residential real estate survey 2022 ซึ่งเป็นการสำรวจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรง พบว่า ปัจจัยด้านพื้นที่ใช้สอยเพียงพอ เหมาะสม รวมถึงสามารถต่อเติมขยายพื้นที่ได้ เป็นปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญในการซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด
ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแข่งขันกันยกระดับการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สามารถสนับสนุนการทำงานอยู่ที่บ้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โจทย์สำคัญของผู้ประกอบการในยุคการทำงานรูปแบบ Hybrid workplace แบบ Office-based ได้แก่ ปัจจัยด้านทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง และการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัย ทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม ที่จะช่วยสนับสนุนด้านการทำงานอยู่ที่บ้าน
ตลาดคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคการทำงานรูปแบบ Hybrid workplace แบบ Office-based โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมกลุ่มราคาปานกลาง–ล่าง จากข้อได้เปรียบด้านทำเลที่สะดวกต่อการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ และการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางเป็น Co-working space ที่ช่วยตอบโจทย์การทำงานจากที่บ้านได้ในเวลาเดียวกัน การทำงานรูปแบบ Hybrid workplace โดยเป็น Office-based ซึ่งมีจำนวนวันที่พนักงานต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าการทำงานที่บ้าน ทำให้การอยู่อาศัยในโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในทำเลที่ใกล้แหล่งงานในเมือง รวมถึงใกล้รถไฟฟ้า มีความสะดวก ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแนวราบในระดับราคาเดียวกัน ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มพนักงานออฟฟิศที่มีระดับรายได้ปานกลางลงมาได้ค่อนข้างมาก
สำหรับข้อจำกัดของขนาดห้องคอนโดมิเนียม ที่อาจไม่เหมาะสมต่อการจัดสรรเพื่อเป็นพื้นที่สำหนับทำงานโดยเฉพาะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงานโดยเฉพาะกันมากขึ้น ในปัจจุบันมักจะเห็นหลายโครงการคอนโดมิเนียมมีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นพื้นที่ Co-working space หรือพื้นที่สำหรับการทำงานโดยเฉพาะอยู่ด้วย เช่น โต๊ะทำงานหลากหลายรูปแบบ ห้องทำงานส่วนบุคคล ห้องประชุมสำหรับ 3-4 คน ไปจนถึงห้องประชุมขนาดกลางที่สามารถใช้จัด Meeting หรือ Conference ขนาดเล็กได้สตูดิโอสสำหรับการทำงานเฉพาะทางเป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีการยกระดับพื้นที่ดังกล่าวด้วยการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง ออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์และกายศาสตร์ (Ergonomics) เปิดให้ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างครบครัน เช่น จอ Monitor ขนาดใหญ่ โต๊ะและเก้าอี้ทำงานตามหลัก Ergonomics ลำโพง และอุปกรณ์สนับสนุนด้านการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่
ส่วนกลางของโครงการคอนโดมิเนียม เพื่อสนับสนุนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคการทำงานแบบ Hybrid workplace ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดระดับราคาปานกลาง–ล่าง
นอกจากนี้ การทำงานรูปแบบ Hybrid workplace โดยเป็น Office-based ยังเป็นโอกาสของตลาดคอนโดมิเนียมปล่อยเช่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง และกรุงเทพฯ ชั้นในที่จะยังได้อานิสงส์จากการเช่าจากกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง–บน
ทั้งนี้ ในส่วนกลุ่มพนักงานผู้มีรายได้ระดับบนขึ้นไปอาจมีโอกาสที่จะเช่าคอนโดมิเนียมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป หรืออาจตัดสินใจซื้อแทนการเช่า เพื่อความสะดวกสบายด้านการเดินทาง หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ