ขับไปเสียวไป! คมนาคมจี้โครงการก่อสร้างเส้นพระราม 2 เร่งคืนผิวจราจร เข้มงวดความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ของกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ผู้แทนกรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างบนถนน พระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการของ ทล. ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรีปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเอกชัย ระยะทาง 11.7 กม. มีความคืบหน้า 88.973% , โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับ ช่วงเอกชัยบ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. มีงานก่อสร้างจำนวน 10 ตอน มีความคืบหน้า 40.395% และทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว มีความคืบหน้า 51.872%

โครงการของกทพ. คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนองวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กม. สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ จากแยกต่างระดับบางขุนเทียนเซ็นทรัลพระราม 2 (กม.13+000-กม.6+630) ระยะทางรวม 6.369 กม. คืบหน้า 56.07% สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ตั้งแต่ กม.6+600 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทาง 5.3 กม. คืบหน้า 83.07% สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. คืบหน้า 62.86% สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร แล้วเสร็จตามสัญญา และสัญญาที่ 5 งานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568

ซึ่งทั้ง 3 โครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ได้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสภาพการจราจรและการแก้ปัญหาบนถนนพระราม 2 และได้มีข้อสั่งการให้ ทล. เร่งรัดจัดทำแผนงานและดำเนินการ O&M สำหรับด่านเก็บเงินให้เสร็จทันพร้อมงานโยธา และให้ ทล. และ กทพ. ดำเนินการเพื่ออำนวยการจราจรบนถนนพระราม 2 ให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ดังนี้

1. ทาสี ตีเส้นบนถนนให้ชัดเจนขึ้นเพื่อให้การจราจรคล่องตัวและมีความปลอดภัย

2. ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนถนนในจุดที่อาจจะเป็นอันตราย

3. ให้คืนพื้นที่ผิวจราจรให้มากที่สุด ในบริเวณที่กั้นคอนกรีตแบริเออร์และปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากแล้วเสร็จ คงเหลืองานเสาหรือการวางคาน ให้ขยับคอนกรีตเข้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ช่องจราจร

4. จัดเรียงแบริเออร์ในบริเวณโครงการก่อสร้างให้เป็นระเบียบ สะอาด ทาสีให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เพื่ออำนวยความปลอดภัยด้านการจราจรบนถนน

5. จัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีการจราจรหนาแน่น

6. ซ่อมแซมหลุมบ่อหรือปรับระดับผิวจราจรให้ราบเรียบ คลอบคลุมพื้นที่ไหล่ทางเพื่อขยายผิวจราจรและให้การจราจรเคลื่อนตัวไม่ชะลอเนื่องจากผิวทางชำรุด

7. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่ง พิจารณางดเว้นการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าหน่วยงานได้ดำเนินการครบถ้วนในสัปดาห์หน้านอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาระบบรายงานการตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ โดยได้เริ่มเปิดให้ใช้งานระบบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 รองรับการรายงานการตรวจสอบในประเด็นที่เป็น Common Checklist สำหรับทุกโครงการ ซึ่งมีประเด็นการตรวจสอบ 3 มิติหลัก ประกอบด้วย มิติด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการบริหารการจราจรและความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้รายงานผลการตรวจสอบแล้ว 57 โครงการ จากทั้งหมด 65 โครงการ ในระยะต่อไปกระทรวงคมนาคมจะพัฒนาระบบเพิ่มเติม ให้สามารถรองรับการรายงานผลตรวจสอบในประเด็นที่เป็น Special Checklist ของแต่ละโครงการต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles