ดีดี พร๊อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์ข้อมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เปิดเผยว่า รายงานสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคคนไทยมีชื่อว่า ผลสำรวจความมั่นใจผู้บริโภคประเทศไทย หรือ DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study ประจำครึ่งปีแรกของประจำปี 2567 พบว่า ความเชื่อมั่นต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคไทยลดลงทุกด้าน เริ่มจาก พบว่ามี 44% ของผู้บริโภคที่มีแผนซื้อบ้านภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากเดิมที่ 53% ในการสำรวจรอบก่อนหน้านี้เมื่อช่วงครึ่งปีหลัง 2566 สะน้อยชัดเจนว่า คนไทยที่อยากซื้อบ้านมีลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้น และภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบมากต่อกลุ่มผู้ซื้อระดับกลางถึงล่างที่มีความเปราะบางทางการเงินสูง
สอดคล้องกับผลสำรวจพบว่า 30% ของผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลื่อนแผนซื้อบ้านออกไปก่อนจากปัญหาทางการเงิน
สำหรับผู้บริโภคที่เลื่อนแผนการซื้อบ้านออกไป หรือไม่มีแผนที่จะซื้อบ้านนั้น มีปัจจัยลบ ดังนี้ ภาวะดอกเบี้ยสูง โดยผู้บริโภค 48% ยอมรับว่าดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และ 29% มองว่าดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงมาก ในขณะที่มีเพียง 16% มองว่าดอกเบี้ยอยู่ในระดับเหมาะสม
ภาวะเงินเก็บไม่พอ กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกเช่าแทนการซื้อ โดย 61% ยอมรับว่าเป็นเพราะยังไม่มีเงินเก็บพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัย และภาวะบ้านมีราคาสูง โดยคนที่เลือกเช่าแทนซื้อในสัดส่วน 38% มองว่าบ้านมีราคาแพงเกินไป
ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้คนไทยเลือกจะเช่าบ้านเพิ่มขึ้น โดยมี 14% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าจะเช่าบ้านภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 9% เทียบจากการสำรวจรอบก่อน นอกจากนี้ การลดช่วงราคาที่อยู่อาศัยที่จะซื้อลงนั้น พบว่ามี 20% จะใช้แนวทางนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการก่อหนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา
ขณะที่อุปสรรคคนซื้อบ้านยุคนี้จึงเป็นเรื่องทางการเงินที่รุมเร้า นอกจากจะมีปัญหาจากเศรษฐกิจแล้ว ธนาคารระมัดระวังสูงมากในการอนุมัติสินเชื่อบ้าน ข้อมูลโดย LWS ชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาอย่างเข้มงวดทำให้อัตราลูกค้าที่ถูกปฏิเสธให้สินเชื่อสูงถึง 60-65% ของการยื่นขอกู้ทั้งหมด สาเหตุที่ผู้บริโภคชาวไทยขอสินเชื่อบ้านจากธนาคารแล้วไม่ผ่านนั้น พบว่า 56% มาจากรายได้และอาชีพไม่มั่นคง มี 38% ที่มีประวัติทางการเงินไม่ดี และมี 31% มีเงินดาวน์ไม่พอ
ทั้งนึ้ ผลสำรวจ เปิดเผยต่อไปว่า การช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ นั้น ผู้บริโภคมากถึง 58% ต้องการมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน มี 51% ต้องการมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านทั้งที่มีอยู่แล้ว และที่กู้ใหม่ และราว 40% ต้องการมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง