รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าจำนวนคนไทยจดทะเบียนสมรสมีประมาณปีละ 300,000 คู่ต่อปี แต่ปรากฏว่าในปี 2564 มีการจดทะเบียนสมรสเพียง 240,979 คู่ ซึ่งต่ำที่สุดในช่วงปี 2568-2567 ขณะที่ในปี 2567 ผ่านไปนั้น มีการจดทะเบียนสมรสเพียง 263,087 คู่ ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
ขณะที่การจดทะเบียนหย่าของคนไทยในช่วงระยะเวลา 10 ปีผ่านมา ในภาพรวมกลับเพิ่มขึ้นชัดเจนและต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2558-2562 ยอดจดทะเบียนหย่าเพิ่มจาก 117,880 คู่ มาเป็น 128,514 คู่ จากนั้นในช่วงปี 2564-2567 ยอดจดทะเบียนหย่าเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 110,942 คู่ มาเป็น 147,621 คู่ ดังนั้น ประชากรไทยมีความต้องการแต่งงานลดลงอย่างมาก ส่งผลไปถึงจำนวนเด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยต่อไปว่า ในปี 2567 ประชากรในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 65,951,210 คน มีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 571,646 คน ทำให้อัตราเพิ่มตามธรรมชาติอยู่ที่ -0.17% ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดกัน อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate – TFR) ซึ่งหมายถึงจำนวนลูกเฉลี่ยที่ผู้หญิงไทยคนหนึ่งจะมีตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์นั้น ในปี 2567 อยู่ที่ 1.0 ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากรที่ อยู่ในระดับ 2.1 และยังใกล้เคียงกับประเทศที่เผชิญสถานการณ์การเกิดที่ต่ำมาก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด ท่ามกลางอัตราเจริญพันธุ์รวมของคนไทยต่ำกว่า 1.5 ดังนั้น จากประสบการณ์ในหลายประเทศ พบว่าการกระตุ้นการเกิดนั้นเป็นไปได้ยาก แถมมีแนวโน้มในเจเนอเรชันถัดไปอาจลดลงไปอีก
ทั้งนี้ กรมอนามัย เปิดเผยว่าจากนี้ไปอีก 60 ปีข้างหน้า หรือถึงปี 2628 ประเทศไทยจะมีประชากรเหลือแค่ 33 ล้านคน หรือเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในปี 2567 ที่มีจำนวนเกือบ 66 ล้านคน สอดคล้องกับศาสตราจาร์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม เปิดเผยว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายเกี่ยวกับประชากรไทยใดๆ ออกมา หรือไม่ทำอะไรเลย ในที่สุดประเทศไทยจะมีประชากรลดหายไปเหลือแค่ 29 ล้านคน ที่สำคัญ ตัวเลขดังกล่าวจะไม่นิ่ง โดยจะลดลงไปเรื่อยๆในอนาคต