นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต – บางปะอิน ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมได้นำเรื่องนี้กลับมาเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุนที่มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ กรมทางหลวง ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่าการดำเนินการในรูปแบบ การลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) ซึ่งภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมด และเอกชนจะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและงานระบบ พร้อมงานดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) และทางภาครัฐจะชดเชยค่าตอบแทนให้บริษัทเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน (Full Operating Cost) แบบคงที่ (Fixed Payments) นั้นเหมาะสมที่สุด และ กระทรวงคมนาคม ได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอบรรจุเป็นวาระการประชุม โดยคาดว่าจะได้บรรจุเข้าเป็นวาระการประชุม ครม. ในวันที่ 17 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน จะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายดอนเมืองโทลเวย์ เข้ากับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ให้มีความสมบูรณ์และลดปัญหาการจราจรแออัดทางฝั่งทิศเหนือของกรุงเทพมหานครได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไป ทางกรมทางหลวงจะเริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ลงนามสัญญาภายในปี 2568 ระยะการก่อสร้างตั้งกรอบแผนภายปี 2569–2571 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2572
ส่วนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วง รังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท ทางกระทรวงคมนาคม ได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระการประชุม คาดว่าคณะรัฐมนตรีน่าจะได้พิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2567 ไม่เกินนี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งของขวัญชิ้นสำคัญให้กับพี่น้องประชาชนในเทศกาลปีใหม่ 2568
สำหรับความคืบหน้า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน – ศาลายา นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และในส่วน โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก ระยะทาง 25.9 กม. ภายหลังที่มีต้องปรับย้ายตำแหน่งสถานี ช่วงโรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะนี้กระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอเรื่องมากระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม. ต่อไปโดยเร็ว เบื้องต้นทราบว่ารฟท. ยังอยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียด เนื่องจากมีการปรับแบบสถานีราชวิถีใหม่ และทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)