คมนาคม เผยมีแนวคิดใช้พื้นที่ท่าเรือคลองเตยบางส่วนทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เน้นพัฒนามิกซ์ยูส

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีนโยบายการย้ายท่าเรือกรุงเทพ ( ท่าเรือคลองเตย ) ออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ของรัฐบาลชุดใหม่ว่า สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยมีนโยบายเรื่องย้ายท่าเรือคลองเตย เพียงแต่จะปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือคลองเตยให้มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการขนส่งทางน้ำ และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งท่าเรือคลองเตย มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ จึงให้เน้นการบริหารท่าเรือที่เป็นสำหรับสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) โดยในบางพื้นที่ ไม่สามารถทำให้เกิดรายได้หรือมูลค่าได้ จึงมีแบ่งพื้นที่และเซกชั่นว่าจะบริหารพื้นที่ท่าเรือคลองเตยอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) อยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ถูกจับตาว่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำหรับโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) หรือสถานบันเทิงครบวงจรนั้น เป็นนโยบายรัฐบาล ที่ท่าเรือคลองเตยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย แต่จะไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จะเน้นเรื่องการทำ Smart Port การพัฒนามิกซ์ยูส เป็นพื้นที่สำหรับสินค้าถ่ายลำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือก่อสร้างสนามกีฬา และสร้างที่อยู่อาศัยแนวตึกสูง ซึ่ง กทท.มีแผนงานที่ศึกษาไว้เดิมอยู่แล้ว

โดยกร่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมีข้อสั่งการเป็นหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 67 เรื่อง การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ที่ระบุว่า ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 นายกรัฐมนตรี เสนอว่า เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประชาชนชาวกรุงเทพฯ ในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่กำหนดให้พิจารณาการย้ายท่าเรือกรุงเทพฯ ออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ยังไม่ได้ผ่านเป็นกฎหมายจากรัฐสภา และเนื่องจากนโยบายดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายที่นายกรัฐมนตรี จะแถลงต่อที่ประชุมสภาฯ ดังนั้น หลังการแถลงนโยบายแล้ว ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกันก่อน เพราะไม่ใช่มีแค่กระทรวงคมนาคม แต่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดนายกฯ จะต้องพิจารณาตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างโปร่งใส

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles