น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ…ตามที่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับที่ 14 พ. ศ.2562 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุน และความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หากยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจะส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมรับการตรวจสอบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USOAP-CMA) อันจะส่งผลต่อการประเมินเพื่อยกระดับค่าประสิทธิผลของการดำเนินการ (EI [Effective Implementation] Score) ของประเทศไทย
1. การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำ
– กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 5,000,000 บาท
– กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก น้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 5,700 กิโลกรัมขึ้นไป ฉบับละ 2,500,000 บาท
2. การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบไม่ประจำ
– กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 3,000,000 บาท
– กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียวหรือใช้เฮลิคอปเตอร์ ฉบับละ 1,500,000 บาท
3. การประกอบกิจการทำงานทางอากาศ
– กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 3,000,000 บาท
– กรณใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียวหรือใช้เฮลิคอปเตอร์ ฉบับละ 5,000,000 บาท
– กรณีใช้บัลลูน ฉบับละ 300,000 บาท
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเพิ่มเติมให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขัน การคิดค่าบริการดังกล่าวจะต้องไม่ผลักภาระเป็นค่าบัตรโดยสาร และต้องไม่เป็นเหตุให้ความสามารถในการแข่งขันของสายการบินที่มาใช้บริการ หรือความสามารถในการแข่งขันของสนามบินด้อยลง ขณะเดียวกันสนามบินต้องเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของความปลอดภัยและการบริการให้ดียิ่งขึ้น โดยถือเป็นดัชนีชี้วัดการทำงาน (KPI) ของผู้บริหารสนามบินนั้นๆ ด้วย