คลัง จี้แบงก์ชาติ ออกมาตรการการเงินหนุนเศรษฐกิจ ไปในทิศทางเดียวกับมาตรการการคลัง หนุนเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงกรอบนโยบายการเงินปี 2568 ว่า สิ่งที่ได้หารือกันในวันนี้ ธปท.มีความเข้าใจในเจตนาและนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ซึ่ง ธปท. เองก็มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการทำนโยบายการเงิน รวมถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการกำหนดกรอบเงินเฟ้อนั้น หากจะยังอยู่ที่ 1-3% ก็รับได้ เพียงแต่ทั้ง ธปท. และ กนง. จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม และใกล้เคียงค่ากลางที่ 2% แต่หากต่ำกว่า 1% ช่วยทำมาตรการอื่นเพื่อช่วยให้เงินเฟ้อด้วย

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ธปท. จะต้องกลับไปพิจารณาเงื่อนไขทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องเร่งสรุปให้ได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยยืนยันว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จะต้องเดินควบคู่กันไปได้ เพราะที่ผ่านมาไทยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโตไม่สูง โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 2.7% บวกลบ ส่วนปี 2568 คาดว่าจะโตได้ถึง 3% บวกลบ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ก็ควรจะทำ และเชื่อว่า ธปท. จะเข้าใจในเจตนาและนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี คาดว่าจะต้องมีการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. อีกรอบ เชื่อว่าในครั้งหน้าคงจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน 

สำหรับนโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเอื้ออำนวยและสอดคล้องเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เนื่องจากเรื่องนี้หลายประเทศก็มีการพิจารณาเพื่อให้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มีการเข้าไปแทรกแซงให้เสียในหลักการ โดยอยากให้ ธปท. ไปพิจารณาว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยสอดคล้องกับต่างประเทศ และสามารถแข่งกับคู่แข่งได้หรือไม่ 

นายพิชัย ระบุด้วยว่าประเทศไทยพึ่งพาตลาดในประเทศ 70% ตลาดส่งออก 30% บางอย่างพึ่งพาการส่งออกถึง 50%  แต่ไม่อยากบอกว่าต้องอ่อนค่าไปถึงแค่ไหน โดยอยากให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ นั่ซึ่งมาตรการด้านการเงินที่จะออกมาจะต้องดูให้ครบทั้งหมด ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะต้องมีองค์ประกอบที่สนับสนุนการลงทุน ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การแก้หนี้ กำกับดูแลสถาบันการเงิน เหล่านี้ต้องออกมาเป็นแพ็กเกจ 

ขณะที่ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กระทรวงการคลังพยายามทำเรื่องนี้อย่างบูรณาการและให้ตกผลึกภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ และหนี้อุปโภคบริโภค ที่หากทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นผ่านการขอสินเชื่อใหม่ ๆ ได้ โดยมองว่าวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ มาตรการด้านการคลังและมาตรการด้านการเงินจะต้องเดินไปด้วยกัน  

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles