นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงและไม่มีผลต่อการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณและอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังซึ่งมีบางหน่วยงานอาจจัดเก็บรายได้เกินเป้าก็เป็นการชดเชยกันไปส่วนกรม สรรพสามิต ซึ่งประเมินแล้วว่าทั้งปีจะจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการก็มีเหตุที่เข้าใจได้เพราะรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการลดภาษีน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ต่ำกว่าเป้าหมายราว 3.9 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากกรมสรรพสามิตที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1.มาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมัน ดีเซลและน้ำมันเบนซินในช่วงต้นปี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 24,000 ล้านบาท 2.มาตรการส่งเสริมยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศ โดยลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อให้รถอีวีมีราคาที่สามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปได้ และ 3.การจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 รายได้หลักของสรพพสามิต เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว
สำหรับ ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – เม.ย.2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,386,040 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 39,102 ล้านบาทหรือ 2.7% โดยรายได้สุทธิจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 53,130 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%
ส่วนการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี รวมกันอยู่ที่ 1,463,872 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,498 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 38,876 ล้านบาท หรือ 2.7% แบ่งออกเป็น
–กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1,090,683 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการณ์ 9,598 ล้านบาท หรือ 0.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 19,569 ล้านบาท หรือ 1.8%
–กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 304,506 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการณ์ 47,089 ล้านบาท หรือ 13.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 27,541 ล้านบาท หรือ 9.9%
–กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 68,683 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการณ์ 1,993 ล้านบาท หรือ 3.0% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8,234 ล้านบาท หรือ 10.7%
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,362,102 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,769,691 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 294,880 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 430,076 ล้านบาท