นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารของรัฐบาลเป็นธนาคารเพื่อประชาชน จึงใช้มาตรการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ได้นานที่สุด และเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเคยมีความเห็นว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาอย่างรวดเร็วและแรงเกินไป สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยขณะนี้ติดลบมา 1-2 เดือนแล้ว เป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาอย่างใกล้ชิดมาก
ด้วยนโยบายของรัฐบาล กระทรวงการคลังได้พยายามใช้นโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้สถาบันการเงินของรัฐบาลอย่างที่สุด เห็นได้จากเมื่อ 3 เดือนผ่านมา รัฐบาลให้ธนาคารของรัฐบาลตรึงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทางธนาคารเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารรัฐบางแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกัน แต่เป็นการปรับขึ้นเฉพาะเพียงอัตราดอกเบี้ย MLR เท่านั้น จึงขอยืนยันว่า ธนาคารรัฐมีการตรึงดอกเบี้ยเงินกู้กันอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นมาในภาพรวม โดยในช่วง 2 ปีผ่านมา ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวมถึง 8 ครั้ง อัคราดอกเบี้ยแบงก์ชาติทุกวันนี้อยู่สูงในกว่า 10 ปีผ่านมา ประกอบกับในตลาดการเงินมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ก็มีความจำเป็นที่ธนาคารต่างๆ จะอยู่ภายใต้กรอบการแข่งขันเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อไปว่า ได้มีการหารือเรื่องนี้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีความเป็นห่วงสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เราก็มีหน้าที่ในกรอบหน้าที่ภารกิจที่เรามีตามกฎหมาย แน่นอนว่า เรื่องเงินเฟ้อติดลบส่อไปในทางที่ว่าเศรษฐกิจชะลอตัว
แต่กลไกของรัฐเราก็มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนอยู่ได้ มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพอ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเร่งผลักดันให้พ.ร.บ.งบประมาณมีผลโดยเร็วที่สุด รัฐบาลพยายามทำให้เร็ว และให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงกลไกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ