ค่าเงินบาท เปิดตลาดอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากตลาดต่างประเทศยังรอลุ้นปัจจัยใหม่

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.65-36.69 บาทต่อดอลลาร์) หลังตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Juneteenth ทำให้สินทรัพย์ส่วนใหญ่ในตลาดก็เคลื่อนไหวในกรอบ sideways

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก

โดยยังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาททยอยแข็งค่าเข้าใกล้โซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมัน รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน ทำให้โซนดังกล่าวอาจยังคงเป็นแนวรับของเงินบาทในช่วงนี้ได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่าเงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบแถวระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน เพราะถึงแม้ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอย่าง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยจะคลี่คลายลงบ้างในระยะสั้น ทว่า เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน และยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย นอกจากนี้ควรจับตาทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาทองคำ เพราะหากราคาทองคำยังสามารถทรงตัวที่ระดับปัจจุบัน หรือปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท แต่หากราคาทองคำปรับตัวลดลงก็สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำของผู้เล่นในตลาด ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะ “Buy on Dip” ทองคำอยู่ เพื่อรอลุ้นการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หากบรรดาธนาคารกลางหลักทยอยลดดอกเบี้ยลง และธนาคารกลางบางส่วนก็อาจยังคงเข้าซื้อทองคำเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนสำรอง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE เพราะหาก BOE “เซอร์ไพรส์” ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หรือส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งหน้า ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ และยังคงมุมมองเดิมว่าเงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาทอย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles