ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศในประเทศไทย เปิดตลาดวันนี้ 16 กันยายน 2024 เมื่อเวลา 8.30 น. พบว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแตะระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ หรือนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2024 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 19 เดือน และหากเทียบกับในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม 2024 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายถึง ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นไปประมาณ 5.6% นั้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยสำนักวิจัยบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ เปิดเผยว่า สำหรับในไตรมาส 3 ปัจจุบัน ค่าเงินสกุลสำคัญในประเทศเกิดใหม่ล้วนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ให้ผลตอบแทน เรียงตามลำดับ มีดังนี้ 1.บาท ไทย 10.3% 2.ริงกิต มาเลเซีย 9.3% 3.รูเปี๊ยะ อินโดนีเซีย 6.4% 4.เปโซ ฟิลิปปินส์ 4.7% 5.สล็อตตี้ โปแลนด์ 4.2% 6.วอน เกาหลีใต้ 3.7% ฟอรินท์ ฮังการี 3.4% 7.โครูนา เชค 3.1% 8.แรนด์ แอฟริกาใต้ 2.6% และ 10.หยวน จีน 2.3%
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์ ขณะทีีกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.00-34.10 บาท/ดอลลาร์ โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ ความผันผวนในตลาดการเงินจะสูงขึ้นในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ซึ่งจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ทั้งหมด
แนวโน้มค่าเงินบาทนั้น ยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง หากผลการประชุมเฟดเป็นไปตามที่ประเมินไว้ คือ ไม่เร่งลดดอกเบี้ย และมุมมองใหม่ของทิศทางก็ไม่ได้สะท้อนแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง ในขณะเดียวกัน ควรจับตาทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาทองคำ พร้อมติดตามทิศทางเงินหยวนจีนหลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุดออกมาย่ำแย่กว่าคาด