ค่าเงินในประเทศเกิดใหม่แถบเอเชีย-อาเซียนแข็งค่าในรอบ 5 เดือน เงินบาทใกล้หลุด 35 ดอลลาร์แกร่งในรอบ 7 เดือน

ดัชนีสกุลเงินประเทศในตลาดเกิดใหม่ เอ็มเอสซีไอ พบว่า เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 5 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนถึงค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในภาพรวมแข็งค่าสูงขึ้นในรอบ 5 เดือนผ่านมา สาเหตุจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงลึกสุดในรอบ 7 เดือนผ่านมา สอดรับกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะต่ำสุดในรอบ 14 เดือน จากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด อาจจะเริ่มลดดอกเบี้ยระยะสั้นครั้งแรกในเดือนกันยายนนี้

ในขณะที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินในเอเชียนับตั้งแต่เช้าวันนี้จนกระทั่งถึงปิดตลาด พบว่าสกุลเงินในประเทศแถบเอเชียรวมถึงอาเซียนล้วนปรับตัวแข็งค่าขึ้นทำสถิติใหม่เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน หรือตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา ค่าเงินริงกิต มาเลเซีย เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 4.4 ริงกิต/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสูงสุดในรอบ 16 เดือน หรือตั้งแต่มีนาคมปี 2023 เป็นต้นมา และค่าเงินเปโซ ฟิลิปปินส์ เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 57 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสูงสุดในรอบ 3 เดือน หรือตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา

ด้านตัวชี้วัดโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงในเดือนกันยายนถึง 0.5% อยู่ที่ 50% จากเดิมที่ 10% เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมผ่านมา และลดดอกเบี้ยดังกล่าวลง 0.25% มีโอกาสอยู่ที่ 14% ขณะที่ โอกาสปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงในธันวาคมอยู่ที่ 72% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 50%

สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียที่ร่วงอ่อนค่ามากนั้น กลายเป็นแรงกดดันต่อบรรดาธนาคารกลางในภูมิภาคนี้อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นตามการปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาช่องว่างของดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างผันผวน ธนาคารกลางในอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล ชิลี และโดยเฉพาะเม็กซิโกที่ลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบริหารจัดการเงินทุนต่างชาติไหลออก

ขณะที่ธนาคารกลางประเทศฟิลิปปินส์ ได้ส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยระยะสั้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ถึงแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมผ่านมาจะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ต่อเนื่อง ท่ามกลางค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles