นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้ บริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit) เพื่อรับสินบน 10,000,000 บาท ว่า เรื่องนี้ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม มติป.ป.ช.ไม่ได้หมายความว่าคดีสิ้นสุดแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ป.ป.ช.ต้องส่งอัยการสั่งฟ้องให้ศาลพิจารณา แต่หากอัยการไม่ฟ้อง ก็เป็นสิทธิที่ป.ป.ช.สามารถสั่งฟ้องเองได้ เรื่องนี้จึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้คดีสินบนโรลส์–รอยซ์ ยังเกี่ยวกับกับบริษัทอื่นด้วย จึงต้องติดตามกระบวนการในภาพรวมอีกครั้ง โดยอาจต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เพราะบุคคลที่ถูกชี้มูลเป็นอดีตผู้บริหารปตท.สผ. แต่อยากให้เข้าใจกระบวนการตรวจสอบลักษณะนี้เป็นขั้นตอนปกติ ภายในองค์ปตท.เองก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบความผิดปกติ เพื่อให้เป็นธรรมทุกฝ่าย และป้องปรามการทุจริตในองค์กร
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้ บริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit)
คดีนี้สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้สืบสวนสอบสวน กรณีการจ่ายเงินสินบนของบริษัท โรลส์–รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ และในการทำข้อตกลงชะลอการฟ้อง (Deferred Prosecution Agreement) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับบริษัท โรลส์–รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาทิตย์ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้จ้างตัวกลาง และค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้ตัวกลางส่วนหนึ่ง ถูกนำไปใช้เป็นสินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาโครงการดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงยกเหตุควรสงสัยขึ้นดำเนินการไต่สวน โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ระหว่างปี พ.ศ.2547-2551 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการก่อสร้างแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา และมีการจัดหา Feed Gas Turbine Compressor (เครื่องอัดอากาศแบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง สำหรับใช้ในการป้อนก๊าซจากแหล่งที่มาเข้าสู่กระบวนการผลิต) จำนวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 27,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,000,000,000 บาท) โดยคณะกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วย นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติ
ซึ่งในการดำเนินการจัดหา นายเผ่าเผด็จ วรบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่ง (TOA) ได้กระทำการเร่งรัดเพื่อให้มีการออกหนังสือเชิญบริษัทที่จะร่วมประมูลซึ่งรวมถึงบริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ก่อนที่คณะกรรมการจัดหาของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นชอบ ประกอบกับในการพิจารณาอนุมัติการสั่งซื้อของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล ในฐานะอนุกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้สั่งซื้อ โดยมีข้อคิดเห็น ให้จัดทำตัวเลขเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเพื่อพิจารณาว่าผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดเป็นผู้เสนอราคาดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สูงสุด เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง
แต่ นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กลับเร่งรัดรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จากบริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ทั้งที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเพียงเห็นชอบในหลักการให้สั่งซื้อ และยังไม่มีการดำเนินการตามข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจทั้งที่เป็นประเด็นสาระสำคัญ
รวมทั้งนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจและอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือชี้แจงรายละเอียดของมติคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจแต่อย่างใด พฤติการณ์จึงเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าการจัดหารวม 24,663,303 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900,000,000 บาท)
โดย นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท โรลส์–รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทแควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของนายเผ่าเผด็จ วรบุตร จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) อันเป็นการรับทรัพย์สินที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1.การกระทำของนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายอนุชา สิหนาทกถากุล และนายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และการกระทำของนายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
2.การกระทำของนายเผ่าเผด็จ วรบุตร มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 5 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 60 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
3.การกระทำของผู้ถูกกล่าวหารายอื่น จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งอัยการสูงสุดดำเนินการร้องขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ริบทรัพย์สินรายการเงินสินบนจำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93