อุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า สายการบินพาณิชย์สัญชาติญี่ปุ่นมี ความต้องการเพิ่มจำนวนกัปตันหรือนักบินอีก 1,000 คนภายในปี 2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า เพื่อเป้าหมายในการที่จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นด้วยความหวังที่จะเห็นจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวน 60 ล้านคนภายในปี 2030 ขณะที่ในปัจจุบันมีจำนวนนักบินอยู่ประมาณ 7,100 คน ซึ่งไม่พอที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้
ความต้องการนักบินที่มีเป็นจำนวนมากดังกล่าวนั้นส่งผลให้หากมีมีความจำเป็นต้องมองหาและว่าจ้างนักบินที่มีความสามารถสูงจากต่างประเทศ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่นเพื่อที่จะพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตการทำการบินของกัปตัน หรือนักบินสัญชาติต่างประเทศมาเป็นใบอนุญาตญี่ปุ่นภายในเวลารวดเร็วขึ้นและมีค่าใช้จ่ายถูกลง
อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่เชื่อเรื่องที่ง่ายดายนักและอาจได้รับแรงต้านทานจากภายในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหภาพแรงงานการบิน ซึ่งทุกวันนี้ได้รับการว่าจ้างหรือจ่ายผลตอบแทนน้อยกว่าบรรดาสายการบินต่างประเทศอยู่แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่กำลังกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด เนื่องจากนักบินสัญชาติญี่ปุ่นล้วนอยู่ในช่วงวัย 50 ปี และกำลังจะเกษียณภายในช่วงปี 2030
ด้านการจ่ายผลตอบแทนให้กับกัปตันหรือนักบินที่เป็นชาวญี่ปุ่น เช่น สายการบินเอเอ็นเอ หรือออล นิปปอน แอร์เวย์ และสายการบินเจเอแอล หรือเจแปนแอร์ไลน์ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วจ่ายเงินประจำรายปีให้ปีละ 25 ล้านเยน หรือ 172,900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.05 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง ตรงกันข้ามกับสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ จากสหรัฐอเมริกา พบว่า กัปตัน หรือนักบินของสายการบินดังกล่าวที่มีประสบการณ์ 12 ปี ได้รับการจ่ายผลตอบแทนที่ 453,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 15.85 ล้านบาท สอดคล้องกับสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ จ่ายผลตอบแทนให้กับกัปตันหรือนักบินสูงถึง 480,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 16.8 ล้านบาท
นายโนบูฮิโตะ อาเบะ หุ้นส่วนและหัวหน้าที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการบิน แอท เคียร์นี ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนชื่อดังแห่งหนึ่งของโลก เปิดเผยว่า สายการบินขนาดใหญ่และจำนวนมากอาจมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนและแก้ไข กระบวนการหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานภายใน เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับกัปตัน หรือนักบินที่ไม่ใช่สัญชาติชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ สายการบินของญี่ปุ่น ยังคงมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน ภายในที่ยึดรูปแบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก
สายการบินเอเอ็นเอ หรือออล นิปปอน แอร์เวย์ มีนักบินราว 2,400 คน ซึ่งเป็นนักบินชาวญี่ปุ่นทั้งหมด เช่นเดียวกันกับสายการบินเจเอแอล หรือเจแปนแอร์ไลน์ มีจำนวนนักบิน 2,200 คน ซึ่งแทบจะมีจำนวนน้อยมากที่เป็นนักบินต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก ที่มีนักบินมาจากหลากหลายสัญชาติกว่า 70 ประเทศ ในขณะที่สายการบินเอมิเรตส์ ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่มีนักบินเป็นชาวต่างชาติทำงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) เปิดเผยว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นสะสมกว่า 14,641,500 คน เติบโตถึง 69.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และเติบโต 6.5% เทียบกับปี 2562 สำหรับ 5 อันดับแรกของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นสูงสุด ได้แก่
1. เกาหลีใต้ 3,738,700 คน (เพิ่มขึ้น 44.7% เทียบปี 66 / เพิ่มขึ้น 15% เทียบปี 62) 2.จีน 2,407,100 คน (เพิ่มขึ้น 523.3% เทียบปี 66 / ติดลบ 34.1% เทียบปี 62) 3.ไต้หวัน 2,404,700 คน (เพิ่มขึ้น 74% เทียบปี 66 / เพิ่มขึ้น 19.1% เทียบปี 62) 4.สหรัฐ 1,046,500 คน (เพิ่มขึ้น 40.4% เทียบปี 66 / เพิ่มขึ้น 49.6% เทียบปี 62) และ 5.ฮ่องกง 1,025,600 คน (เพิ่มขึ้น 41.8% เทียบปี 66 / เพิ่มขึ้น 15.4% เทียบปี 62)
ทั้งนึ้ เฉพาะพฤษภาคมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ และพักผ่อนในญี่ปุ่น 3,040,100 คน เพิ่มขึ้น 9.6% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว และนับว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 3 ล้านคนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ต่อเนื่องจากเดือนมี.ค. ที่มีจำนวน 3,081,781 คน และเดือนเม.ย. จำนวน 3,042,900 คน