จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2568 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 28 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลและการเมืองของไทยและสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 และรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้นโนบายการเงินผ่อนคลายจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว 2 ครั้งรวม 0.5% อยู่ที่ 1.75% แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าและการเข้าถึงสินเชื่อลำบาก
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 46.7 50.6 และ 60.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 48.1 51.9 และ 62.7 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.2 เป็น 52.7 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 28 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 38.8 เป็น 37.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 61.7 มาอยู่ที่ระดับ 60.1 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นของบริโภคลดลงได้ในอนาคตหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและเศรษฐกิจไม่สามารถจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล