ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 2568 ยอดขาย ขนมขบเคี้ยวไทย คาดอยู่ที่ 50,400 ล้านบาท หรือโต 2% ชะลอจากปี 2567 ที่โต 6% โดยกลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด ซึ่งเป็นตลาดหลักจะโตได้ไม่มากที่ราว 1.4% ตามจำนวนผู้ออกเดินทางท่องเที่ยวและจำนวนผู้ใช้การสตรีมวิดีโอที่เติบโตชะลอ รวมถึงจำนวนอีเวนต์ใหญ่ที่ลดลง
ขณะที่ยอดขายขนมขบเคี้ยวกลุ่มที่เติบโตได้สูงกว่าภาพรวมตลาดในปี 2568 คือ กลุ่มขนมปังกรอบและบิสกิตที่โต 2.7% แรงหนุนจากความเป็นเมืองและจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ทำจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช คาดโต 2.4% จากเทรนด์การบริโภคที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น
ยอดขายขนมขบเคี้ยวไทย ปี 2568 คาดขยายตัว 2% ชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 6% เนื่องจากเผชิญปัจจัยบวกที่แผ่วลงจากปี 2567 ตามภาคการท่องเที่ยวไทยที่เติบโตช้า ส่งผลต่อการบริโภคขนมขบเคี้ยวในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวและสังสรรค์ให้เพิ่มขึ้นไม่มาก ขณะที่ต้นทุนการผลิตหลักอย่างราคาวัตถุดิบในบางรายการสำคัญมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
ตลาดขนมขบเคี้ยวไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามยอดขาย คือ กลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายมากที่สุดราว 51% ตามมาด้วยกลุ่มขนมปังกรอบและบิสกิต 36% และกลุ่มขนมที่ทำมาจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช 13% ผู้บริโภคมักจะบริโภคขนมขบเคี้ยวในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมท่องเที่ยวหรือสังสรรค์ร่วมกับผู้อื่นเป็นหลัก หรือ “We Time” คิดเป็น 54% ของเวลาทั้งหมดที่บริโภคขนมขบเคี้ยว และอีก 46% จะบริโภคในเวลาที่ใช้อยู่กับตัวเองหรือ “Me Time“
ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศมีการแข่งขันสูง ทั้งจากจำนวนผู้เล่นมากรายและสินค้านำเข้าที่มาตีตลาดเพิ่ม โดยปัจจุบันผู้เล่นในตลาดขนมขบเคี้ยวของไทยมีจำนวนมากกว่า 590 ราย (เฉพาะนิติบุคคล จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) และด้วยอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของตลาดขนมขบเคี้ยวที่สูงราว 20-35% ส่วนหนึ่งมาจากราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาไม่สูง ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี จึงจูงใจให้มีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดจำนวนมากและทำให้ตลาดขนมขบเคี้ยวมีการแข่งขันรุนแรง (Red Ocean)
ขณะที่ขนมขบเคี้ยวนำเข้าที่หลากหลายรวมถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดสัญชาติจีนและเกาหลีอย่างไก่ทอดที่เป็นที่นิยม ก็เข้ามาตีตลาดไทยเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้การแข่งขันของตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศรุนแรงขึ้นอีก ทั้งนี้ ขนมขบเคี้ยวนำเข้าแม้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ในปี 2563-2566 พบว่า ปริมาณการนำเข้าขนมปังกรอบและเวเฟอร์เติบโตเฉลี่ยกว่า 8% ต่อปี และในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 โตถึง 11%
ส่วนการส่งออกขนมขบเคี้ยวไทยที่มีสัดส่วนริมาณราว 18% ก็มีความเสี่ยง โดยในปี 2564-2566 ปริมาณส่งออกขนมขบเคี้ยวไทยหดตัวเฉลี่ย 0.5% ต่อปี และแม้ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 จะพลิกโตเป็นบวกที่ 7% แต่ไปข้างหน้าก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะในตลาดจีน ที่มีทั้งแบรนด์ขนมเก่าและใหม่ในตลาดจำนวนมากอีกทั้งยังมีราคาถูก จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกขนมขบเคี้ยวของไทย