ตลาดหลักทรัพย์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2024 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 38,459 จุด -2 จุด หรือ -0.01% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 5,199 จุด +38 จุด หรือ +0.74% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ 16,442 จุด +271 จุด หรือ +1.68% ขณะที่ในสัปดาห์ผ่านไป ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ปิดลดลง -2.27%, -0.95% และ -0.8% ตามลำดับ
สาเหตุจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลกับโอกาสการลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐในปีนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตทั่วไปและขั้นพื้นฐานเดือนมีนาคมในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเป้าหมาย ขณะที่เมื่อวันพุธผ่านมา อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปและขั้นพื้นฐานเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ เพิ่มขึ้น 0.4% ทั้งคู่ ซึ่งสูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่ม 0.3% สอดรับกับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านไป พบว่าเพิ่มขึ้น 3.5% และ 3.8% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 3.4% และ 3.7% ตามลำดับ ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดจำนวนครั้งการลดดอกเบี้ยจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกล่าช้าออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมคาดว่าจะลดในเดือนมิถุนายนไปเป็นเดือนกรกฎาคม
ในปลายสัปดาห์ผ่านไป กระทรวงแรงงาน สหรัฐ ประกาศตัวเลขการจ้างงานชาวอเมริกันนอกภาคเกษตรในเดือนมีนาคมพุ่งแตะ 303,000 คน สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 200,000-250,000 คน ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 0.3% เทียบเดือนก่อนหน้านี้ และเพิ่มขึ้น 4.1% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา และอัตราการว่างานลดต่ำลงแตะระดับ 3.8%
ผู้ว่าการเฟด สาขามินนาโพลิส นายนีล แคชคารี่ กล่าวว่าถ้าหากความคืบหน้าของอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลงนั้น กลับไม่มีสัญญาณที่ดีอย่างที่คิดไว้ การลดดอกเบี้ยระยะสั้นอาจจะไม่จำเป็นในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่งขยายตัวได้ท่ามกลางดอกเบี้ยในระดับสูง ขณะที่ประธานเฟดยืนยันต้องมีข้อมูลที่เชื่อใจได้ว่าเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องจริง ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ สาขาแอตแลนต้า กล่าวว่า อาจมีการลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ท่ามกลางมุมมองในตลาดทุนที่ประเมินว่าจะลดถึง 3 ครั้ง
ด้านตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสเริ่มปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% ของเฟดในการประชุมเดือนมิถุนายน ปี 2024 อยู่ที่ 62.3% จากเดิมที่ระดับ 70%
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ทำสถิติทั้งในรายไตรมาส และรายเดือนที่ดีที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2019 โดยในรายไตรมาสนั้น ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ปิดเพิ่มขึ้น +7.4%, +10.2% และ +9.1% ตามลำดับ ส่งผลดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดไตรมาสที่ 1 ปีนี้ดีที่สุดในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2019 และดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดไตรมาสที่ 1 ปีนี้ดีที่สุดในรอบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2021 สอดรับกับรายเดือน ปิดเพิ่มขึ้น +2.1%, +3.1% และ +1.8% ตามลำดับ