ตลาดเงินจับตาประชุมกนง. ดอกเบี้ยเฟด หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาท แข็งค่าแตะระดับมากสุดในรอบกว่า 1 เดือน สัปดาห์นี้คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน เนื่องจากตลาดประเมินโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุม FOMC เดือนธ.ค.นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดว่า ทางการจีนอาจทยอยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงในปี 2568 เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากมาตรการภาษีการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB และตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. ที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด

ในวันศุกร์ที่ 13 ธ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ธ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ธ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 5,907 ล้านบาท และ 6,246 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับสัปดาห์นี้ (16-20 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (18 ธ.ค.) ผลการประชุม FOMC (17-18 ธ.ค.) และ Dot Plot ของเฟด ผลการประชุม BOJ (18-19 ธ.ค.) ผลการประชุม BOE (19 ธ.ค.) การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน รวมถึงสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการ (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 (final) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการ (เบื้องต้น) เดือนธ.ค. และอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของอังกฤษและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้วยเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles