นายปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยรายงานภาวะตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพประจำไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า มีพื้นที่อาคารสำนักงานรวม 6.16 ล้าน ตร.ม. สาเหตุจากอาคารสำนักงานใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ อาคารศุภาลัย ไอคอน สาทร และรัชโยธิน ฮิลส์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 มีพ้นที่รวม 29,200 ตร.ม. ส่งผลให้ปริมาณในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นมา 0.5% เทียบจากไตรมาสที่ 1 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา พบว่าปริมาณพื้นที่รวมเพิ่มขึ้น 3.5%
สำหรับทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่ยังคงพบสภาพการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ หรือซีบีดีราว 60% ได้แก่ ทำเลเพลินจิต-ชิดลม-วิทยุ, นานา-อโศก-พร้อมพงษ์ และย่านสีลม-สาทร-พระราม 4 เป็นต้น
เมื่อมาพิจารณาอัตราการดูดซับ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในการเช่าสำนักงานนั้น พบว่าในไตรมาสที่ 2 ผ่านมา มีพื้นที่ถูกดูดซับไป 18,400 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบจากไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้นเป็น 4.73 ล้าน ตร.ม. สะท้อนถึงอัตราการครอบครองเฉลี่ยยังคงทรงตัวที่ 79% และย่านสีลม-สาทร-พระราม 4 เป็นย่านหลักที่ขับเคลื่อนพื้นที่การเช่าในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ผ่านตัวเลขที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับตลาดสำนักงานให้เช่านอกย่านศูนย์กลางธุรกิจ ที่มีค่าเช่าและอัตราการครอบครองที่ลดลง
กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 นี้ ตลาดสำนักงานในกรุงเทพฯ จะขยายตัวเล็กน้อย เป็นผลจากการเติบโตของอุปทาน พื้นที่ให้เช่า และอัตราค่าเช่า รวมถึงอัตราการดูดซับสุทธิจะกลับมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม อัตราการครอบครองยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากตลาดอาคารสำนักงานกำลังเผชิญกับภาวะซัพพลายเกินดีมานด์ หรือมีมากกว่าความต้องการ ขณะเดียวกัน ในด้านคุณภาพ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเลือกอาคารสำนักงานของผู้เช่าใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่หลายโครงการพยายามพัฒนาปรับปรุงอาคารสำนักงานหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เช่าจำนวนมากได้ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่โดยให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น เทคโนโลยี และการปรับตัว การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่รองรับรูปแบบการทำงานที่หลากหลายและเน้นความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมีความสำคัญมากขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ อาคารเก่าที่ไม่ได้รับการปรับปรุงสินทรัพย์ (AE) หรือปรับปรุงการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก (FM) อาจต้องเผชิญกับปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากอาคารสำนักงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หันมาใช้กลยุทธ์การกำหนดราคาที่แข่งขันได้ พื้นที่ทางกายภาพ และบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้เช่ายุคใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อจำนวนการเช่าพื้นที่และค่าเช่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต