ต้องรู้ 5 แนวโน้มใช้งานปัญญาประดิษฐ์(AI)ในอนาคต ไอบีเอ็มชี้ นำ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

คุณอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจากการทดลองนำร่องสู่การนำไปใช้เชิงกลยุทธ์ ในปี 2025 องค์กรจะมองหาโมเดล AI ที่มีความเฉพาะด้านและมีขนาดเล็กลง และมาพร้อมสถาปัตยกรรมแบบโอเพ่นซอร์สที่ให้ความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยโฟกัสจะอยู่ที่การเน้นความได้เปรียบในการแข่งขันและการเพิ่ม ROI ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการบูรณาการแพลตฟอร์มได้แบบไร้รอยต่อ อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะปูทางไปสู่ Agentic Al แต่เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้คือแนวทางการใช้ AI ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

AI Outlook 2025 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจในประเทศไทยเข้าใจถึงแนวโน้มและทิศทางการใช้งาน AI ในอนาคต องค์กรที่ต้องการนำ AI มาใช้ ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนกลยุทธ์ การพัฒนาบุคลากร การจัดการข้อมูล และการกำกับดูแล AI อย่างจริงจัง เพื่อให้การนำ AI มาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยให้องค์กรสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล ต่อไปนี้ คือ 5 เทรนด์ AI สำคัญจาก AI Outlook 2025 มีดังนี้

1. Strategic AI: ใช้ AI อย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น ในปี 2025 องค์กรต่างๆ จะหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ AI อย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น เน้นไปที่โครงการที่สามารถสร้างการเติบโตหรือให้ผลลัพธ์เชิงบวกกับธุรกิจได้อย่างชัดเจนมากกว่าในปี 2024 เทรนด์นี้หมายถึงการเลือกใช้ AI ในส่วนงานที่สำคัญมากขึ้นและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรมากขึ้น เช่น การเพิ่มรายได้ การลดต้นทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าเป็นต้น การจะทำแบบนั้นได้ รายงานบอกเอาไว้ว่าผู้บริหารและทีมเทคโนโลยีจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนด KPI และวัดผลลัพธ์จากการใช้ AI อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความเป็นไปได้ ทรัพยากรที่ต้องใช้ และระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่อให้การลงทุนใน AI คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

รายงานเปิด Use Case ที่เข้าข่ายเทรนด์ Strategic AI นี้ด้วยนั่นก็คือบริษัท StarHub ผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของสิงคโปร์ที่นำ AI มาใช้ในการจัดการทรัพยากรในระบบคลาวด์ Infinity โดยใช้ AI ในการจัดสรรทรัพยากรและปรับขนาดการใช้งานให้เหมาะสมกับความต้องการ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโซลูชัน Smart Retail เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ซึ่งช่วยให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นด้วย

2. Rightsizing AI: เลือกใช้โมเดล AI ขนาดเล็กและเหมาะกับงาน Rightsizing AI เป็นแนวโน้มที่องค์กรจะหันมาใช้โมเดล AI แบบ Open-Source ที่มีขนาดเล็กลง แต่มีความสามารถเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ในปี 2025 เราจะได้เห็นหลายๆองค์กรเลือกใช้โมเดล AI ที่เหมาะสมกับขนาดขององค์กร ลักษณะงาน และปริมาณข้อมูล ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการ ลดการใช้พลังงาน และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลงได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ การใช้โมเดล AI แบบ Open-Source ยังช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาและปรับแต่ง AI ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะด้านขององค์กรได้ด้วย

สำหรับเทรนด์นี้รายงานยกตัวอย่างบริษัทจากไทยอย่าง KBTG ที่พัฒนา LLM ของตัวเองชื่อ “THALLE” (Text Hyperlocally Augmented Large Language Extension) ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในด้านการเงินโดยเฉพาะ และอย่างที่ทราบกันดีว่า THALLE สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเป็นภาษาไทยได้อย่างแม่นยำ ช่วยในการตัดสินใจลงทุน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆได้ นี่จึงนับเป็นอีกเทรนด์ของการใช้ AI ที่จะมาในอีกหลายๆองค์กรในปี 2025 แน่นอน

3. Unified AI: จัดการ AI แบบรวมศูนย์
Unified AI คือเทรนด์ของการลงทุนในเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่ช่วยในการจัดการและกำกับดูแล AI แบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความโปร่งใสในการใช้งาน AI โดยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการทำงานของ AI จากจุดเดียว ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อน ลดความเสี่ยง และเพิ่มความน่าเชื่อถือในการใช้งาน AI ในองค์กร

รายงานยกตัวอย่าง Use Case จากบริษัท GS Lab | GAVS ที่พัฒนา ZIF.AI เพื่อควบคุมดูแลการใช้งาน AI ให้อยู่ในกรอบของการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ โดย ZIF.AI จะช่วยในการตรวจสอบ ประเมิน และควบคุม AI ตลอดวงจรชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่า AI ทำงานได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานรวมถึงไม่ละเมิดกฎหมาย

ขณะที่บริษัท Feedloop AI บริษัทผู้ให้บริการ Gen AI จากประเทศอินโดนีเซียร่วมมือกับ IBM เพื่อผสานรวม FL1 ซึ่งเป็น AI Large Language Model (LLM) ภาษาอินโดนีเซียตัวแรกๆของประเทศเข้ากับแพลตฟอร์ม watsonx โดย watsonx จะช่วยให้หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจที่ใช้ Gen AI ที่มีโมเดล FL1 สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในแง่ของหลักธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎหมาย

4. Agentic AI: มอบอำนาจให้ AI ทำงาน
Agentic AI เป็นการมอบอำนาจให้ AI สามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น โดย AI จะสามารถตัดสินใจ แก้ปัญหา และเรียนรู้จากประสบการณ์ได้เอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน ลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ และช่วยให้มนุษย์สามารถโฟกัสกับงานที่ซับซ้อนและสร้างสรรค์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ Agentic AI จำเป็นต้องมีการกำกับดูแล ควบคุม และประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น Siriraj Piyamaharajkarun Hospital (SIPH) ที่ใช้ AI ช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการวินิจฉัย ลดภาระงานของแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น โดย AI จะช่วยวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ เช่น ภาพสแกน MRI หรือ CT Scan เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และช่วยในการวินิจฉัยโรค

หรือจะเป็นกรณีของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จับมือ IBM ริเริ่มโครงการนําร่องใช้เทคโนโลยี Generative AI สนับสนุนการวินิจฉัย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจร บนพื้นฐานของข้อมูลที่โปร่งใสเชื่อถือได้ ภายใต้ระบบธรรมภิบาล AI (AI Governance) มาตรฐานโลกที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดเวลาการรอที่โรงพยาบาลลงได้เป็นชั่วโมงเป็นต้น

5. Beyond Productivity: Human-Centric AI ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง
Human-Centric AI เป็นแนวโน้มที่องค์กรจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ที่ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง โดยเน้นการออกแบบ AI ที่ใช้งานง่าย เข้าใจง่าย และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดี สร้างความผูกพันระหว่างผู้ใช้กับ AI อย่างเช่นการพัฒนา Virtual Assistant ที่สามารถสื่อสารโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ การสร้างระบบแนะนำสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า หรือการออกแบบ AI ที่ช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายงานยก Use Case จาก South Waikato District Council (SWDC) หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนิวซีแลนด์ที่ใช้ AI พัฒนา Virtual Assistant เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูล โดย Virtual Assistant สามารถตอบคำถาม ให้ข้อมูล และช่วยเหลือประชาชนในเรื่องต่างๆได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมชาติ เช่น การขอใบอนุญาต การชำระภาษี หรือการติดต่อหน่วยงานราชการ เป็นต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles