สมาคมค้าทองคำประกาศราคาทองคำ วันที่ 11 มีนาคม 2567 ครั้งที่ 1 เมื่อเวลา 9.07 น. ปรับขึ้น 100 บาท เมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดวันเสาร์ (9 มี.ค.) ทำให้ทองคำแท่งรับซื้อที่บาทละ 36,500 บาท ขายออกบาทละ 36,600 บาท
ส่วนราคาทองคำรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 35,838.24 บาท และขายออกบาทละ 37,100 บาท พุ่งทะยานขึ้นทำลายสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์
ขณะที่ทองคำสิงคโปร์ รายงานว่า ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot เปิดตลาดวันนี้ที่ 2,180 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ขณะที่ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ เปิดตลาดในประเทศอยู่ที่ 35.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ กรุงไทย ระบุว่าราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดหลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง ก็ยิ่งช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้น “มากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร” แต่ปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อ ก็เริ่มลดลงบ้าง ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม
โดยปัจจัยที่จะกลับมากดดันให้ราคาทองคำผันผวนลดลงได้ คือการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด
ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำเริ่มเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง หลัง RSI เข้าสู่โซน Overbought อีกทั้ง Risk-Reward ของผู้เล่นฝั่ง Long อาจคุ้มค่าพอสมควร ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยลดสถานะ Long ได้บ้าง ส่วนสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ก็สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงมากขึ้น จากสัญญาณ Bearish Divergence บน RSI ทำให้เราประเมินแนวต้านของราคาทองคำในโซน 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีโซน 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นแนวรับในช่วงนี้