ทัพบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จีนทะลักเข้าไทยพุ่ง 3 เท่าใน 8 ปีผ่านมา เน้นผลิตชิ้นส่วนหลักกับจีนด้วยกันเอง ทำลายห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของซัพพลายเออร์บริษัทไทยร่วมกับญี่ปุ่น ลงทุนทางตรงจากจีนท่วมอาเซียนกว่า 8 แสนล้านบาทเป็นประวัติการณ์

ทัพบริษัทผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์จีน ทะลักเข้าไทยพุ่ง 3 เท่าใน 8 ปีผ่านมา เน้นผลิตชิ้นส่วนหลักกับจีนด้วยกันเอง ทำลายห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของซัพพลายเออร์บริษัทไทยร่วมกับญี่ปุ่น ลงทุนทางตรงจากจีนท่วมอาเซียนกว่า 8 แสนล้านบาทเป็นประวัติการณ์

มาร์คไลน์ส (MarkLines) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่าข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคมผ่านมา บริษัทไทยที่มีการถือหุ้นและลงทุนโดยประเทศจีนในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มีจำนวนมากถึง 165 แห่งในประเทศไทย ซึ่งมากกว่า 3 เท่าจากสิ้นปี 2017 หรือในรอบ 8 ปีผ่านมา สาเหตุจากการเปิดการลงทุนของรัฐบาลไทยให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศจีนหลังจากตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1-2 ปีก่อนจะถึงในปีนี้ ทําให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนกลายเป็นฐานการผลิต และฐานการกระจายชิ้นส่วนรถยนต์ของจีนให้กับตลาดอื่นๆ ในเอเชียได้

สมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) และนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) เปิดเผยว่าบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยระวังการเติบโตของซัพพลายเออร์จีนในประเทศไทย การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทสัญชาติจีนในไทยจะทําลายห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีอยู่ สะท้อนจากราคาการจัดส่งชิ้นส่วนที่สั่งซื้อโดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีนนั้น มีราคาต่ํากว่าบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเกือบ 30%

นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติจีนมักจะผลิตชิ้นส่วนหลักสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ภายในองค์กร หรือจัดหาจากซัพพลายเออร์เป็นบริษัทสัญชาติจีนด้วยกันเท่านั้น ทำให้ซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สัญชาติไทยไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการผลักดันของรัฐบาลไทยให้กลุ่มทุนจีนเข้าประเทศไทย

ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัทไทย ซัมมิท (Thai Summit Group) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่อีกรายหนึ่งในประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอาจเปลี่ยนไปใช้ชิ้นส่วนที่มีการแข่งขันด้านต้นทุน ซึ่งผลิตโดยซัพพลายเออร์สัญชาติจีน หากบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นหันไปพึ่งพาส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ของจีนที่ใช้สำหรับบรถอีวี อาจทําให้ซัพพลายเออร์ชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยต้องลดขนาด หรือถอนตัวออกจากตลาดในเมืองไทยได้

ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มผลิตเต็มรูปแบบในประเทศไทยตั้งแต่ในปี 1960 มาเป็นเวลากว่า 65 ปี มีเครือข่ายซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยประมาณ 1,400 ราย ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นหลายรายได้ร่วมทุนกับบริษัทในไทยโดยสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบบูรณาการในแนวตั้ง แต่ในทางกลับกัน ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนกําลังสร้างเครือข่ายของจีนด้วยกันเอง ซึ่งมีการใช้ห่วงโซ่การผลิตของบริษัทญี่ปุ่นร่วมกับไทยเพียงเล็กน้อย

สะท้อนจากในปี 2023 จํานวนบริษัทจีนก่อตั้งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย มีจำนวนมากกว่า 7,000 แห่ง และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานของกระทรวงพาณิชย์ประเทศจีน เปิดเผยว่า การลงทุนโดยตรง หรือเอฟดีไอของจีนในอาเซียนมีสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 825,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในบริเวณพื้นที่อีอีซีของไทย หรือ 3 จังหวัดภาคตะวันออกนั้น ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าชื่อว่าซันโวดา อิเล็กทรอนิค (Sunwoda Electronic) ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์สัญชาติจีนเหล่านั้น กําลังลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 33,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสําหรับรถอีวี ซึ่งจะเริ่มภายในปี 2025 นี้ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสัญชาติจีนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และแบตเตอรี่ไฟฟ้าอีกหลายราย เช่น CALB, Gotion และ SVOLT Energy Technology กำลังย้ายเข้ามาลงทุนในไทย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles