นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า สำหรับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 3/2567 TISCO ESU คาดว่าหุ้นตลาดเกิดใหม่ (TISCO ESU) จะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น และน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะได้รับปัจจัยหนุนจาก 3 ปัจจัย คือ 1. แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์เริ่มกลับมาปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
แนวโน้มการลดลงของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก โดยธนาคารกลางยุโรปเริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนมิถุนายนในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 4 และจะลดดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาอ่อนค่า และลดแรงกดดันต่อหุ้นในตลาดเกิดใหม่
และ 3. การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยก่อนหน้านี้จีนได้ทยอยประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น มาตรการลดเงินดาวน์ ยกเลิกอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่ำ และการให้วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 3 แสนล้านหยวนให้กับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อนำไปซื้อบ้านส่วนเกินในตลาด เพื่อพยุงราคาอสังหาริมทรัพย์ มาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นต้นเหตุความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน นอกจากนั้นในเดือน กรกฎาคมยังจะมีการประชุมใหญ่ของกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Third Plenum) ซึ่งเราคาคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอให้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนขึ้นไปถึง 60% และจากประเทศอื่นๆ 10% ซึ่งจะกดดันการค้าโลกและอาจสร้างความผันผวนต่อหุ้นในตลาดเกิดใหม่ในช่วงที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้
นายคมศรกล่าวอีกว่า สำหรับมุมมองต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นถึงราว 15% จากแรงหนุนของเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องประกอบกับกระแสการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและ AI ในขณะที่หุ้นตลาดเกิดใหม่กลับถูกแรงกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยของ Fed ที่มีการชะลอการลดดอกเบี้ยออกไป ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มูลค่า (Valuation) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับค่อนข้างแพง โดยค่าอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ของดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 21 เท่าใกล้เคียงจุดสูงสุดในช่วงปี 2564 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Earning yield gap) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี ระดับ Valuation ที่ขึ้นมาสูงทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีโอกาสปรับขึ้นจำกัด