ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองนโยบายภาษีของทรัมป์ในปัจจุบัน (Trump 2.0) เร่งให้พลวัตการค้าโลกย้อนกลับไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” หรือ Protectionism เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่งผลกระทบต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบระบบเปิดขนาดเล็ก (Small-open Economy) โดยผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภาคส่งออกไทย จะส่งผ่านมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะกระทบต่อสินค้าในหลายหมวด ได้แก่ 1. กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครือข่ายและการสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า 2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน และ 3. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เป็นต้น
หลังจากที่โลกบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากผลพวงของการตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ (Smoot-Hawley Tariff Act) ในช่วงปี 2473 (ค.ศ. 1930) ทำให้ทั่วโลกหันกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกครั้ง จนมีส่วนทำให้โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคของการกีดกันทางการค้า (Protectionism) ไปสู่ยุคของโลกาภิวัตน์ (Globalization) อย่างเต็มตัวได้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
อย่างไรก็ดี ในปี 2568 “สงครามการค้าและนโยบายภาษีของสหรัฐฯ” กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้โลกซึ่งอยู่ระหว่างการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (De-globalization) มีการปรับเปลี่ยนระบบการค้าโลกเชิงพลวัตครั้งใหญ่จนอาจกลับไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เห็นได้จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่หันไปพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะหลัง แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Re-shoring) เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งนั่นหมายความว่า โลกนับจากนี้จะมีแนวโน้มพึ่งพาซึ่งกันและกันลดลง ประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูง อาจเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ (Trump 2.0)
ทั้งนี้แม้ล่าสุดทรัมป์ ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ออกไปชั่วคราว และจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าแบบถ้วนหน้า (Universal Tariff) ที่ระดับ 10% (ยกเว้นจีน 145%) ttb analytics มองว่า อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บในยุคของทรัมป์ อาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับเดิมในปี 2567 (อัตราภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% อ้างอิงจากข้อมูลคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ) แม้คู่ค้าหลักจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้แล้วก็ตาม ซึ่งการยกระดับนโยบายกีดกันทางการค้าภายใต้ Trump 2.0 จะยิ่งทำให้ภูมิทัศน์การค้าโลกมีความตึงเครียดขึ้น และจะส่งผลให้ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว สะท้อนผ่านการวิเคราะห์การตอบสนองต่อสิ่งรบกวน (Shock) จากการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ต่อมูลค่าการส่งออกไทยผ่านแบบจำลองการตอบสนองอย่างฉับพลัน (Impulse Response Function : IRF) ในระหว่างปี 2553-2567 ซึ่งพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วง 1-4 ไตรมาสแรกหลังจากการ (ส่งสัญญาณ) ขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่กลับจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยในระยะยาว ซึ่งผลกระทบสะสมยังคงรุนแรงแม้จะผ่านไปแล้ว 24 ไตรมาส
ttb analytics ประเมินว่า หากสหรัฐฯ ใช้การจัดเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันทั้งหมด (ยกเว้นจีน) ในอัตราภาษี Universal Tariff 10% และอัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัย แต่หากกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) ซึ่งไทยอาจยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และถูกจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าซึ่งอ้างอิงจาก Reciprocal Tariff ที่ระดับ 36% และสูงกว่าประเทศคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง 1.1% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 1 ปี (ซึ่งยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมในรูปแบบอื่น) เนื่องจากไทยเป็นประเทศระบบเปิดขนาดเล็ก (Small-open Economy) และมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกคิดเป็นเกือบ 9% ของจีดีพี