วันที่ 3 กรกฎาคม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT จัดงาน Dinner Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี AOT: ENHANCE THE FUTURE มุ่งมั่นพัฒนาขับเคลื่อนสู่อนาคต ณ ห้องบอลรูม 1-2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาในหัวข้อ ‘แนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก’ พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ AOT และ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ให้การต้อนรับ
นายกีรติ เปิดเผยว่า ปี 2567 ถือว่าเป็นปีที่สำคัญของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน โดย AOT คาดทั้งปีนี้ จะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) รวม 120 ล้านคน ซึ่งครึ่งปีแรกมียอดแล้วกว่า 80 ล้านคน และค่อนข้างมั่นใจช่วงครึ่งปีหลังทางท่าอากาศยานสามารถรับผู้โดยสารได้ถึงตามเป้าได้
“ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย AOT ตั้งเป้า 40 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า จนถึงสิ้นปี 2567 เราทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้แน่นอน เป็นโอกาสที่ดีที่รองรับการฟื้นตัวและการกลับมาของผู้โดยสาร โดยเฉลี่ยการมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจากฝั่งทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปปี 2567 สูงกว่าปี 2562 แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศได้ฟื้นตัวกลับมาแล้ว” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีน ยังคงเป็นตลาดสำคัญในการรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวสามารถกลับมาปี 2568 จำนวน 140 คนเท่ากับปี 2562 และ ในอีก 5 ปี (ปี 2572) คาดว่ามีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปี (ปี 2577) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน ขณะที่ รายได้รวม 6 เดือนแรก 2567 AOT ทำรายได้แล้วเกิน 30,000 ล้าน ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าในอีก 6 เดือนถัดไปคาดว่าตัวเลขรายได้จะไปในทิศทางค่อนข้างดี และ สามารถทำกำไรได้ตามที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ กำลังพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนการเปิดรันเวย์ที่ 3 ในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงการใช้ อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินเข้า–ออก 120 เที่ยวบินต่อวัน โดยตั้งเป้ารองรับ 250 เที่ยวบินต่อวันภายในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงเสร็จสิ้นการดำเนินการติดตั้ง Auto-Gate 30 ที่ และตั้งเป้าเพิ่มไปถึง 80 ที่ ภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดระยะเวลาการรอคอยของผู้โดยสาร โดยใช้วิธีสแกนหน้าคนละไม่เกิน 20 วินาที และในอนาคตต่อไปจะดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 2 (Satellite 2: SAT-2) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้. (South Terminal) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
สำหรับ ท่าอากาศยานดอนเมือง อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 วงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคาร ผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) มีพื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตรรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 22 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) รวมถึงกิจกรรมด้านการบินทั่วไป (General Aviation: GA) บริเวณด้านทิศใต้ของ ทดม.ด้วย
นายกีรติ กล่าวว่า เพื่อก้าวเป็นท่าอากาศยานที่ดีในระดับสากล และทะยานสู่ 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในปี 2568 และตามเป้าหมายของรัฐบาลตั้งไว้ว่าสามารถรองรับผู้โดยสาร 80 ล้านคนในอีกสามปี AOT จึงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการโดยจะเร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามมาตรฐานสนามบินสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังและความต้องการในการใช้บริการของผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นจากเดิมรับได้ 60 ล้านคน ซึ่งเน้นเพิ่มพื้นที่ให้บริการกิจกรรมสันทนาการและความบันเทิง สนามเด็กเล่น พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่สำหรับนั่งทำงาน และรวมถึงพื้นที่สำหรับคุณแม่ให้นมบุตร
ซึ่ง AOT กำลังขอคืนพื้นที่จากคิงเพาเวอร์ และส่วนราชการบางส่วน ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และภูเก็ต รวมกว่า 1,000 ตารางเมตร โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามสัญญาโดยตรง และโครงการพัฒนาพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีมติเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สำหรับกรณี หยุดการขายดิวตี้ฟรี ขาเข้า AOT พร้อมปฏิบัติตามมติ ครม. ให้ดิวตี้ฟรีหยุดขายสินค้าปลอดภาษีขาเข้า 1 ปี เพื่อเป็นการกระตุ้นการซื้อในประเทศ ซึ่งทาง ทอท. พร้อมที่จะดึงพื้นที่คืนสำหรับนำไปปรับปรุงพื้นที่สำหรับการให้บริการผู้โดยสาร โดยพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้าไม่ค่อยมีพื้นที่เยอะ และพื้นที่รวมแค่ 10% ของในสัญญาทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น การที่ยุติการขายสินค้าปลอดภาษี 1 ปี ในพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้า ไม่ได้หวั่นว่าจะเป็นการกระทบรายได้ของ AOT นัก เพราะรายได้เชิงพาณิชย์ตรงนี้ไม่ใช่รายได้ทั้งหมดของ ทอท. โดยรายได้จะมาจากการใช้บริการของผู้โดยสาร ซึ่ง AOT ยังมั่นใจในตัวเลขรายได้รวมของปี 2567 และ รายได้รวมของปี 2568 อย่างไรก็ตามทาง AOT ต้องรอทางศุลกากรแจ้งกำหนดการอีกครั้งก่อน AOT จึงจะสามารถวิเคราะห์เรื่องของรายได้ที่ชัดเจนและสามารถเริ่มแผนนี้ได้เมื่อไหร่อีกที ส่วนงบเตรียมปรับพื้นที่เพื่อเพิ่มความสะดวกผู้ใช้บริการเบื้องต้นประมาณ 100 ล้านบาท
นายกีรติ กล่าวว่า การมุ่งสร้างรายได้ต่อไปจะเน้นไปในการพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตจะมีใช้พื้นที่ Airport City พัฒนาเป็นศูนย์ประชุม, โรงแรม และสำหรับเชิงพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งทุกอย่างจะเป็นการเน้นประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นหลัก สำหรับพื้นที่ Airport City คาดว่าจะเปิดประมูลและหาผู้ร่วมลงทุนได้ปลายปีนี้ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา