นิกเคอิ เอเชีย สำนักข่าวชื่อดังระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ 18 มีนาคม 2024 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยมีแนวโน้มสูงที่จะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบที่ระดับ -0.1% ซึ่งใช้มาเป็นเวลานาน 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา นั่นหมายถึงเป็นการปิดฉากยุคเกือบ 2 ทศวรรษที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคิดลบมาอย่างยาวนานครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นตัว
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นระหว่าง 0-0.1% หากเป็นจริง จะถือว่าเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2007 เป็นต้นมา สาเหตุจากภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นขณะนี้อยู่เท่ากับ หรือสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ตามที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำหนดไว้ ที่สำคัญ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร้องขอให้ภาคเอกชนปรับขึ้นอัตราค่าจ้างให้กับพนักงานเพื่อเป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งสภาสหภาพการค้าแห่งชาติญี่ปุ่น หรือเจทียูซี หรือเร็งโก้ (Rengo) ซึ่งเป็นองค์ด้านแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การเจรจาอัตราค่าจ้างประจำปีมีผลทำให้เกิดการปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉลี่ยที่ 5.28% ทำสถิติการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างที่สูงสุดในรอบ 33 ปี หรือตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา สอดรับกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างของบริษัทขนาดเล็กลงมานั้น จะมีอัตราเฉลี่ยปรับขึ้นที่ 4.42%
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีมติปรับขึ้นเงินเดือนมากถึง 28,440 เยน (ราว 6,900 บาท) มากที่สุดในรอบ 25 ปี และให้โบนัสมากเป็นประวัติการณ์ โตโยต้าและบริษัทใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิก นิสสัน แจ้งว่า เห็นพ้องตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานเรื่องขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานในการเจรจาเรื่องค่าจ้างประจำปีที่เสร็จสิ้นในวันนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (วันนี้ 17 มีนาคม 2024) ธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นเพียงแห่งเดียวในโลก ที่ใช้นโยบายอัคราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งได้รับการมองว่า เป็นการใช้นโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยที่มีขนาดของผลกระทบที่ผ่อนคลายอย่างมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน