ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ขานรับนโยบายรัฐบาลด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี สำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs จาก 6.60% ต่อปี เหลือ 6.35% เป็นเวลานาน 6 เดือน เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MRR ต่ำที่สุดในระบบ โดยมีผลตั้งแต่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก ช่วงเข้าวันนี้ 26 เมษายน 2567 สมาคมสถาบันการเงินของรัฐออกแถลงการณ์เกี่ยวกับมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง มีข้อความดังนี้ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ขานรับนโยบายรัฐบาล ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบาย ช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในขณะนี้นั้น
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลด อัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล
ย้อนกลับไปเมื่อ 11 เมษายน 2567 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.15% ต่อปี จาก 6.75% เหลือ 6.60% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้า รายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์)
ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีดังกล่าวลดลงแตะระดับที่ต่ำที่สุดในระบบเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในเทศกาลสงกรานต์นี้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวต่อไปว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANKในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และสามารถปรับตัวให้แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง