นางสาวเขมวันต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือที่เพิ่มเข้ามา เป็นมาตรการผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ของบัตรเครดิต โดยผ่อนปรนไม่ปรับ min pay กลับสู่อัตราปกติที่ 10% ในปี 2568 แต่ให้คงไว้ที่ 8% ถึงสิ้นปี 2568 มีแรงจูงใจผ่านการให้เครดิตเงินคืนกับผู้ที่ผ่อนจ่ายได้มากกว่าหรือเท่ากับขั้นต่ำ 8% เทียบเท่าการลดดอกเบี้ย 0.5% ในครึ่งปีแรก และ 0.25% ของครึ่งปีหลังของปี 2568 (โดยจ่ายทุก 3 เดือน) ส่วนผู้ที่จ่ายได้ตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 8% หากปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะมีโอกาสคงวงเงินส่วนที่เหลือในบัตรเครดิตได้ จากเดิมที่ต้องปิดวงเงินทันทีหลังปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้
โดยการจ่าย min pay 8% ภาระที่ต้องจ่ายหนี้คืนโดยรวมน้อยกว่า และปิดจบได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับการจ่าย min pay 5% และลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องมากกว่าการจ่าย min pay ที่ 10% หากจ่ายไม่ไหวมีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง รวมถึงมีมาตรการรวมหนี้ (debt consolidation) ผ่านการผ่อนปรนอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน และการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ให้กับการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย เป็นการชั่วคราว เพื่อสนับสนุนการรวมหนี้และบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ โดยลูกหนี้มีโอกาสคงวงเงินสินเชื่อรายย่อยส่วนที่เหลือภายหลังการรวมหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ยังสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันได้ อาทิ สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ยไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม สินเชื่อรายย่อยอื่น อัตราดอกเบี้ยต้องต่ำลงกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) โดยจะขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้ อาทิ จากภายใน 5 ปี เป็นภายใน 7 ปี เพื่อลดค่างวดต่อเดือนให้ลูกหนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสคงวงเงิน Revolving ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังมีภาระค่างวดลดลง 20%
ด้านนางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ในไตรมาส 1/2567 คิดเป็นสัดส่วน 90.8% ของจีดีพี ถือว่าสัดส่วนทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ แบ่งเป็นหนี้บัตรเครดิต 3% ใหญ่สุดเป็นหนี้บ้าน 34% หนี้ส่วนบุคคล 25% โดยที่ผ่านมา ธปท.เดินหน้าแก้ไขภาวะหนี้อย่างจริงจัง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้และการกำกับดูแลสถาบันการเงิน สะท้อนผ่านตัวเลขลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวม 8.2 แสนบัญชี หรือ 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.3 เท่า ของหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ค้างชำระระหว่าง 1–3 เดือน (เอสเอ็ม) และหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้น โดยเส้นทางหลังคือ การเร่งรัดให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้และปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง