นางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับการปิดกิจการของธุรกิจขนาด SMEs (เอสเอ็มอี)ในไทยช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย ที่สำคัญธุรกิจขนาด SMEs ในภาคอีสาน และภาคเหนือ กลายเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด เนื่องจากธุรกิจที่ปิดกิจการมีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่
นอกจากนี้ มี 3 ประเภทธุรกิจที่ปิดกิจการสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจประมง ได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU ที่มีการเข้มงวดมาตรฐานการจับสัตว์น้ำมากขึ้น 2.ธุรกิจผู้ผลิตเหล็กและจำหน่ายเหล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าเหล็กจีนเข้ามาตีตลาดในไทย และ 3.ธุรกิจโรงพิมพ์ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิตัล Digitalization สะท้อนจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปชมผ่านออนไลน์มากขึ้น
ผลสำรวจมุมมองของผู้ประกอบการ SMEs ที่จัดทำขึ้นโดย SCB EIC พบว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับต่ำ มี 70% ของกลุ่มตัวอย่างยังค่อนข้างมีความกังวล และไม่เชื่อมั่นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 2567 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2568 สาเหตุจากปัญหากำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง หนี้ครัวเรือนที่เข้ามากดดันบรรยากาศการจับจ่ายให้ฟื้นตัว ด้านความสามารถในการแข่งขันกลับลดลง เพราะสินค้านำเข้ามาตีตลาดในประเทศ เกิดการแย่งส่วนแบ่งลูกค้าไป โดยผู้ประกอบที่เผชิญปัญหานี้รุนแรงที่สุด เช่น โรงงานเหล็ก ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากยี้ ปัจจัยความท้าทายจากภายในที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน ผลสำรวจพบว่ามี 95% ของกลุ่มตัวอย่าง มอง 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล่าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด
ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก เพราะพบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ 1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน 2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น 3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง