นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่าปี 2568 สมาคมประกันชีวิตไทยได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วงร้อยละ 2-3 โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8 – 10% โดยบางปีสูงมากถึง 15% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ และการขยายช่วงอายุการรับประกันสุขภาพออกไปจนถึง 80 ปี จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้การประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตต่อไปได้ และจะมีผลขยายไปถึงการประกันชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) ที่เป็นสัญญาหลักด้วย
อีกทั้งยังมีการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนและมาตรการจากภาครัฐ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจผ่านโครงการนวัตกรรมต่างๆ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และการดำเนินงานปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันและผสานรูปแบบการขาย ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยจนสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันอย่างแข็งขันในทุกด้านของธุรกิจผ่านสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างสภาวะเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก และเศรษฐกิจภายในประเทศไทยที่มีการเติบโตแบบหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 17 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1มกราคม 2568 รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าโลกหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังไม่ยุติ ก่อให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒนฯ) แถลงจีดีพีไทย ปี 2567 ขยายตัว 2.5% และ คงประมาณการ GDP ปี 2568 ขยายตัวได้ 2.3 – 3.3% ยอมรับว่า ธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมๆกับจีดีพี หากเศรษฐกิจไม่ดี คนก็ไม่มีเงินจะซื้อประกันหรืออาจไม่มีเงินจ่ายเบี้ยในปีถัดไป ต้องเลือกปากท้องก่อน ธุรกิจประกันยังผูกกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ยอมรับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันต้องแบกรับความเสี่ยงดอกเบี้ยที่ลงทุนได้ไม่เพียงพอที่จะคืนผู้เอาประกัน (Negative Interest ) จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทประกันหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบมีเงินปันผล หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Par (Participating Life Insurance) หากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ ก็ยังมี ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) หรือประกันอื่นๆที่มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงในระดับที่ลูกค้ายอมรับได้
นอกจากนี้ประกันสะสมทรัพย์ที่มีสัดส่วนสูงสุด เพราะมีเบี้ยขนาดใหญ่กว่า ซึ่งจะเห็นว่าในระยะหลังมีการออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) ควบกับประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง ซึ่งจะเห็นเบี้ยประกันที่มีการคุ้มครองมีสัดส่วนน้อยกว่าเบี้ยประกันการออม นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกที่มการเชื่อมต่อกัน ทั้งนี้สมาคมประกันชีวิตไทยมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน