นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คาดว่า วันนี้ กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ ด้วยปัจจัยทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ กนง.ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจฟื้นตัวตามวัฎจักร และมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุดมองว่าในมุมธปท. อาจต้องการเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบายไว้หากเกิดวิกฤติในอนาคต ขณะที่กระสุนทางการคลังเหลือน้อย รวมทั้งหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูงและส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้ต่อยอดความมั่งคั่ง สะสมความเปราะบางในระบบหากดอกเบี้ยต่ำเกินไป
ทั้งนี้ หลายสกุลเงินแข็งค่าขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเงินบาทเพราะมีปัจจัยร่วมกันคือ ความคาดหวังเฟดลดดอกเบี้ย และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ hard landing จากภาพรวมสถานการณ์ค่าเงิน
อย่างไรก็ตาม มองค่าเงินบาทสร้างฐานใหม่ให้กรอบ 33.75-35.75 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มผันผวนสูง ตามการคาดการณ์นโยบายเฟด (เราคาดเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยเดือน ก.ย. โดยลดครั้งละ 0.25% รวมปีนี้ลด 0.75% และลดต่อเนื่องปีหน้า) และนโยบายด้านการค้าหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกทั้ง ตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อไป ดังนั้น มองกรอบค่าเงินบาทไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่ 34-35.5 บาทต่อดอลอลาร์ และไตรมาส 4 ปีนี้ ที่ 3.75-35.75 บาทต่อดอลลาร์
ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Head of Global Investment Strategy บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่าการแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินบาทในขณะนี้ ยังไม่น่ากังวลมาก เพราะเทียบแล้วยังอ่อนค่าลงเท่ากับช่วงต้นปี แต่จุดที่ต้องระวังคือความเร็ว ถ้าไม่ช่วยดูแลผู้ประกอบการ อาจปรับตัวไม่ทันและจุดอ่อนสำคัญคือ การคงดอกเบี้ยไทย หากสวนทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยยิ่งเพิ่มโอกาสเห็น เงินบาทแข็งค่าหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์