นางสาวรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยว่า คำว่า “ดูทีวี” ในสายตาของผู้ชมคนไทยอาจหมายถึงการดูละคร หรือดูรายการทีวีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือสตรีมมิ่งได้เช่นกัน คำว่าทีวียังมีความหมายและพลังในใจผู้ชมชาวไทย จากผลสำรวจพบว่า ในประเทศไทยซึ่งมีประชากรราว 68 ล้านคนนั้น มี 87% ของประชากรไทย หรือราว 60 ล้านคนที่ดูโทรทัศน์ ซึ่งกลายเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ต เน้นการใช้โซเชียลมีเดียสูงถึง 89% รับชมไลฟ์ทีวี 70% และสตรีมมิ่ง 52% แสดงให้เห็นถึงการบริโภคสื่อหลายแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน
สำหรับพฤติกรรมการดูสื่อของคนไทยในปัจจุบัน กลับไม่ได้จำกัดแค่การดูทีวีเพียงอย่างเดียว ผู้ชมทีวีจะมีหน้าจอเล็กๆ ใกล้มือเสมอ เช่น จอมือถือ หรือจอแท็บเลต การเสพสื่อผ่านหลายหน้าจอพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย หรือการดูสตรีมมิ่งในเวลาเดียวกันกับการดูทีวีไปด้วย สิ่งนี้ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างสื่อต่างๆ ทั้งทีวี สื่อออนไลน์ และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
ในปี 2023 พบว่ามีคนไทย 63% ดูทีวี ส่วนคนไทยดูสตรีมมิ่งอยู่ที่ 37% ส่วนในปี 2024 นี้ ตัวเลขเปลี่ยนแปลงมาก โดยคนไทยดูสตรีมมิ่งจาก 37% ขึ้นมาเป็น 47% คนไทยดูทีวีผ่าน Live TV ที่เหลือผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย OTT ในแง่ของตัวแพลตฟอร์มของช่องสถานี จะเห็นได้ว่าการดูทีวีของคนไทยตอนนี้มีการกระจายตัวอย่างมาก แม้การดูทีวีผ่านจอดั้งเดิมจะลดลงเหลือเพียง 53% ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังพบเห็นในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอังกฤษ ที่การดูผ่านสตรีมมิ่งกลายเป็นกระแสหลักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทีวียังเป็นสื่อที่ได้รับเม็ดเงินโฆษณาสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 50% ของเม็ดเงินโฆษณาทั้งหมดในตลาด แม้จะลดลงจาก 65% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญในตลาดโฆษณาของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า การลงโฆษณาผ่านทีวีให้ผลในระยะยาวที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ ทีวียังเป็นสื่อที่มีความสามารถในการสร้างความจดจำ และความสนใจในแบรนด์ได้มากที่สุด แม้จะมีการเติบโตของสื่อดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเสพสื่อก็ตาม
เมื่อพิจารณาแยกตามวัยที่ติดตามชมทีวี พบว่าคนไทยเจน Z มีสัดส่วน 47% คนไทยเจน Y มีสัดส่วน 54% คนไทยเจน X มีสัดส่วน 61% และอายุ 55 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 62% ดังนั้น การดูทีวียังมีความหมายมากในกลุ่มผู้ชมที่มีอายุมาก การดูทีวีของคนไทย ผ่านอุปกรณ์ สมาร์ททีวี 56% สมาร์ทโฟน 55% แล็ปท็อป 9% และแทบเล็ต 6% กิจกรรมออนไลน์ที่คนไทยทำสูงสุดในช่วง 3 ปี (2564-2567) การดูคอนเทนต์ผ่าน OTT อยู่ในอันดับ 3 มาเนื่อง จาก 60% มาอยู่ที่ 65% รองจากเล่นโซเชียล มีเดียและแชท
เมื่อมองข้อมูลที่ว่าโฆษณาในสื่อทีวีแม้ลดลง แต่มีผลอยู่มาก เพราะคนไทยดูทีวีเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่รู้หรอกว่าดูจากแพลตฟอร์มไหน จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไทยเอง ก็มีการปรับตัว มีการทำแอปพลิเคชั่นสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้คนไทยยังได้ดูทีวีผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งได้รับความนิยมจากคนไทยมากพอสมควร จะเห็นได้ว่า 44% ของคนไทยดูรายการผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นของสถานีโทรทัศน์เองด้วย ในช่วงเวลาว่างของคนไทย ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังเลือกดูทีวีเป็นกิจกรรมอันดับหนึ่งถึง 57%
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้รับชม 2 อุปกรณ์หลักที่คนไทยใช้มากที่สุดคือ โทรทัศน์ (ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ททีวีหรือเคเบิลทีวี) และมือถือ ซึ่งมีการใช้สูงถึง 56% และ 44% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าอุปกรณ์หน้าจอใหญ่ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าการดูทีวีผ่านสตรีมมิ่งเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันผู้ชมที่ดูผ่านสตรีมมิ่งมีถึง 67% แบ่งเป็นการดูผ่านบริการที่ต้องเสียเงิน (Subscription Video on Demand หรือ SVOD) สัดส่วนผู้ชมที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ใช้จ่ายเพื่อคอนเทนต์ประเภทนี้ 50% หรือเท่ากับคนหนุ่มสาว ส่วนบริการที่ไม่ต้องเสียเงินแต่มีโฆษณา (Advertising Video on Demand หรือ AVOD) พบว่า 48% ของผู้ชมยินดีจ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนต์คุณภาพสูงประเภทนี้
ด้านประเภทรายการที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย พบว่ารายการประเภทละคร และกีฬา ยังเป็นที่นิยมสูงสุดในแต่ละเดือน สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ผู้ชมยังให้ความสนใจรายการ 2 ประเภทนี้ โดยเฉพาะรายการกีฬาเป็นกิจกรรมหลักในหลาย ๆ ประเทศ