นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีความคืบหน้าการจัดทำ รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 มีมติให้ รฟท.เร่งการจัดทำรายงานศึกษาแผนรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เนื่องจากโครงการนี้ รฟท.ใช้เวลาในดำเนินการศึกษามายาวนานหลายปีแล้ว
โดยความคืบหน้าปัจจุบัน รฟท.ว่าจ้างให้คณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยล่าสุดได้นำผลการศึกษามารายงานที่บอร์ด รฟท. เพื่อขอความเห็นชอบผลการศึกษาจากบอร์ด ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำเนินโครงการคือการลงทุนรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) และจัดเก็บรายได้แบบ Net Cost (เอกชนได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง) รวมถึงกำหนดขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 20 ปี จากเดิมในการการประมูลที่ผ่านมามีผลตอบแทนเพียง 18 ปี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุนและเพิ่มรายได้ให้กับทาง รฟท.
อย่างไรก็ตามเดิมทีการประมูลโครงการนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2562 มูลค่าโครงการ 4 หมื่นล้านบาท แต่กระบวนการต่างๆ ค่อนข้างล่าช้า อย่างไรก็ตาม ทางกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เอกชนผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการไอซีดี ลาดกระบัง ยังคงยืนยันความสนใจในโครงการนี้แม้จะใช้เวลาศึกษานานกว่าที่คาด โดยมีการประเมินว่าผลตอบแทนจากการดำเนินโครงการจะสูงขึ้นจากเดิม และมีการปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับปัจจุบัน จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญในการเดินหน้าเจรจาสัญญารอบใหม่
ช่วงที่ผ่านมา รฟท.มีความพยายามผลักดันโครงการให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าทาง รฟท.จะนำเรื่องผลการศึกษาเพิ่มเติมเข้าสู่การกระบวนการการพิจารณาทบทวนจากทางกระทรวงคมนาคมภายในเดือนมิถุนายน เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดหวังว่าโครงการไอซีดี ลาดกระบัง จะเริ่มดำเนินการเซ็นสัญญาฉบับใหม่ได้ภายในปี 2568 นี้ เนื่องจาก รฟท. มีรายละเอียดผลการศึกษาครบพร้อมหมดแล้ว