นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทวันนี้เปิดระดับ 35.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.50- 36.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.77-35.93 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด หรือ ช้ากว่าคาด) ซึ่งกดดันทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท
นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากการผันผวนอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งนอกเหนือจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เงินเยนญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากการปรับสถานะถือครองก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในสัปดาห์นี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways แต่ยังเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านได้ไม่ยาก หากตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และยังคงต้องระวังการปรับฐานต่อเนื่องของราคาทองคำ รวมถึงทิศทางสกุลเงินเอเชีย โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่นที่อาจผันผวนอ่อนค่าได้ ซึ่งจากปัจจัยข้างต้นทำให้เราประเมินว่าโซนแนวต้านยังคงอยู่ในช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรก (แนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์) และหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยโซนแนวรับแรกของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์)
ส่วนเงินดอลลาร์อาจทรงตัว sideways หรือย่อตัวลงบ้าง หาก Dot Plot ใหม่ของเฟดยังคงสะท้อนว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ทว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หาก BOJ ยังไม่ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดตามที่ตลาดคาดหวัง
ในสัปดาห์นี้ กรุงไทยมองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง การประชุม FOMC ของเฟด การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)