นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า การที่สหรัฐประกาศคงอัตราเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยที่ 36% สถานการณ์ไม่ได้ผันผวนอย่างที่นักลงทุนหลายคนกังวลเหมือนที่ช่วงที่ประกาศอัตราภาษีหลายประเทศในครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม จะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงทั้งในแง่ของภาคการส่งออก, SME ในประเทศ และการลงทุนโดยตรงที่จะเข้ามาไทย ขณะเดียวกันก็ยังมีผลกระทบระยะยาวที่ตามมา เรื่องของความสามารถในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย โดยเบื้องต้นยังประเมิน GDP ไทยปี 68 ที่ 2% โดยมีดาวน์ไซด์ 1.5% ซึ่งจะต้องรอข้อสรุปอัตราภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บและอัตราภาษีประเทศคู่แข่งการค้าของไทยด้วย อาทิ อินเดีย และจีน โดยต้นปีประเมิน GDP ปี 68 ที่ 3% โดยยังมีอัพไซด์ และปรับลงมาที่ 2% มีดาวน์ไซด์ ซึ่งปัจจุบันดาวน์ไซด์ตอนนี้ยังต้องรอผลการเจรจาทั้งหมด GDP อาจจะอยู่ที่ 1.5-2% เป็นเบื้องต้น
ทั้งนี้ หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศภาษีศุลกากรอัตราใหม่กับประเทศต่าง ๆ เมื่อคืนนี้ ตลาดทุนทั่วโลกไม่ได้สะเทือนเหมือนตอนที่ประกาศอัตราภาษีครั้งแรก โดยตลาดฟิวเจอร์สติดลบเล็กน้อย ขณะเดียวกันบางตลาดในเอเชียยังบวกได้เล็ก ๆ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่เคยกังวล สะท้อนว่าตลาดรับรู้ประเด็นดังกล่าวไปมากแล้ว
ประกอบกับก่อนหน้านี้สหรัฐผ่อนผันระยะเวลาจัดเก็บภาษีอัตราใหม่ 90 วัน ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวเรื่องสต็อกสินค้าและหาซัพพลายเออร์รายใหม่ นอกจากนี้สหรัฐได้ออกมาตรการอื่น ๆ เข้ามาประกอบ โดยเฉพาะ One Big Beautiful Bill ที่ช่วยลดผลกระทบต่อตลาดทุนและผลกระทบต่อภาคประชาชนให้บรรเทาลงบ้าง
โดยนายกอบศักดิ์ ประเมินทางเลือกของไทย 3 ทางเลือก ได้แก่
1) ยอมรับสภาพที่ 36%
2) กลับไปเจรจาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ประมาณ 25% ซึ่งทางเลือกนี้มองว่าภาคเอกชนจะสามารถรับได้และปรับตัวได้มากที่สุด
และ3)ทางเลือกสุดท้าย เดินตามทางเวียดนาม ทำเต็มที่ให้ได้ 20%
ทั้งนี้ มองว่าอัตราภาษีที่ 10% คงเป็นไปได้ยากเนื่องจากเป็นอัตราที่สหรัฐให้กับประเทศที่เกินดุล 20% นอกจากนี้มองว่าจดหมายที่ประกาศออกมาเมื่อคืนเป็นการเตือนว่าการเจรจาก่อนหน้านี้ยังไม่เป็นที่พอใจ คำถามต่อมาคือไทยจะสามารถเสนอดีลได้อย่างที่สหรัฐฯ ต้องการหรือไม่
มุมมองของภาคเอกชนจากที่มีการพูดคุยมา ไม่ต้องการให้อัตราภาษีระหว่างไทยและประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญแตกต่างมากนัก ซึ่งอัตราภาษีระดับ 25% มีส่วนต่างจากเวียดนาม 5% ยังพอบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย ลดกำไรบางส่วนลง และทำงานให้หนักขึ้น เพื่อจัดการส่วนต่างภาษีระดับดังกล่าวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะมีข้อเสนออะไรให้กับสหรัฐบ้าง ซึ่งปัจจุบันสินค้าจากสหรัฐหลายชนิดไม่ได้มีการผลิตในไทยสามารถนำเข้ามาได้ เช่น ชิปอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่บางกลุ่มอาจต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่นภาคเกษตร ซึ่งจะต้องมีการเยียวยาให้กลุ่มนี้ยังขับเคลื่อนไปได้
โดยหากอัตราภาษีของไทยไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 36% เช่นเดิม จะกระทบทั้งภาคการส่งออกที่ต้องปรับตัว ภาค SME ในไทย ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีอัตราเท่าไร หากยังสูงทำให้จีนต้องกระจายสินค้ามายังตลาดอื่น ซึ่งทำให้ SME ไทยเกิดปัญหาได้ ขณะที่ยอดการขอ BOI ที่ก่อนหน้านี้บริษัทแจ้งจำนงอาจต้องพิจารณาหนักมากขึ้น หากมาตั้งฐานการผลิตที่เมืองไทย ส่งออกไปสหรัฐต้องจ่ายภาษี 36% ย้ายไปตั้งที่เวียดนามที่เสียภาษี 20% ดีกว่า ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อไทยในระยะถัดไป
สำหรับผลกระทบต่อ SME ไทย หากสินค้าจากจีนไหลเข้าไทยในราคาที่ถูกกว่า โดยอยากเห็นมาตรการที่เคยใช้ในอดีต นั่นคือการที่ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีสัดส่วนสินค้า SME มากขึ้นจากเมื่อก่อนมีสัดส่วนสินค้า SME 30% แต่ปัจจุบันลดลงเรื่อย ๆ โดยมองว่าระดับ 50% ที่รัฐบาลจะซื้อของ SME ในประเทศ จะทำให้ SME ไม่ต้องสู้กับสินค้าจีน ขณะเดียวกันอยากให้ช่วยภาคการส่งออก จัดงบให้กับกระทรวงพาณิชย์เพื่อทำให้การค้าขายที่อินเดีย ตะวันออกกลาง อาเซียนและจีน เพิ่ม เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดทดแทนได้
แม้ตัวเลขการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการสะท้อนความตั้งใจของผู้ประกอบการสหรัฐที่พยายามสต็อกสินค้า โดยมองว่าครึ่งปีหลังการส่งออกจะไม่ดีเนื่องจากผู้ประกอบการสต็อกสินค้าไปหมดแล้ว จนถึงต้นปี 69 หลังจากนั้นผู้ประกอบการมีเวลาในการหาซัพพลายเออร์รายใหม่ที่มีกำแพงภาษีไม่สูง ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 60-70% ของ GDP ซึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วน 18% ของการส่งออกทั้งหมด โดยหากถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% คาดสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะลดลงเหลือประมาณ 10% อย่างไรก็ตามมองว่าไทยต้องหาตลาดอื่นทดแทน อาทิ อินเดีย จีน ยุโรป และยังมีอีกหลายตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งมองว่าในเวลานี้ไทยควรเร่งหาตลาดใหม่ ควบคู่ไปกับการเจรจาการค้า รวมทั้งไทยควรต้องทำงานเรื่องพหุภาคีให้เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากทรัมป์จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 ปีครึ่ง หลังจากนั้นทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม และไทยจะมีพหุภาคีที่เข้มแข็ง และจะเป็นทางออกให้กับทุกคน
ขณะเดียวภาคการท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวมาน้อยกว่าที่คาด ภาคการบริโภคในประเทศชะลอตัว ภาคอุตสาหกรรมไทยก็ค่อย ๆ ขยายตัวต่ำลง ทำให้ไร้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ นอกจากนี้การเมืองในประเทศที่ยังมีปัญหาด้านเสถียรภาพส่งผลต่อการทำงานภาคราชการไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามยอดการขอ BOI ยังเติบโตต่อเนื่อง หวังว่าอย่างน้อยจะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปต่อได้