ผงะเฉียด 100% แรงงานค่าแรงขั้นต่ำมีหนี้ ออมเงินไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท

ผงะเฉียด 100% แรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ มี หนี้ ออมเงินไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 1,259 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2567 ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือกลุ่มอยู่นอกระบบประกันสังคมมี 57.4% และกลุ่มอยู่ในระบบประกันสังคมมี 42.6% พบว่า แรงงานค่าแรงขั้นต่ำราว 33.8% มีการเก็บออมเงินราว 7.5% ของรายได้ หรือประมาณ 500-2,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 344,522.22 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 272,528.15 บาท หรือเพิ่มขึ้น 26.4%

แรงงานในปัจจุบัน ยอมรับว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีความเหมาะสมปานกลาง 38.2% เหมาะสมน้อยถึงน้อยมาก 40% เพราะ 23.2% ของแพง มี 20.6% รายได้น้อย 20.6% มี 18.1% มีภาระหนี้สูง 18.1% และมี 15.5% ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

กรณีที่ไม่สามารถเพิ่มรายได้อย่างที่ต้องการ ก็อยากให้เพิ่มรายได้เท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น 65.3% เพิ่มเท่ากับค่าเดินทางที่สูงขึ้น 38.9% เพิ่มเท่ากับราคาอาหารที่สูงขึ้น 42.3% โดยผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น 60.8% รับไม่ได้หากเป็นเช่นนั้น มีเพียง 39.2% เท่านั้นที่รับได้ โดยอยากให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร ช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค มีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย

สถานการณ์ภาระหนี้ของแรงงานค่าแรงขั้นต่ำ พบว่า 98.8% มีหนี้ และมี 1.2% เป็นกลุ่มที่ไม่มีหนี้ การก่อหนี้ของแรงงานค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ 17.5% เป็นหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 14.5% เทียบกับปี 2566 มี 11% ใช้หนี้เงินกู้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10.7% มี 10.9% เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.2% มี 10.6% เป็นหนี้หมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8.6% หากพิจารณาเฉพาะหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิต พบว่าส่วนใหญ่ใช้จ่ายในเรื่องการอุปโภคและบริโภค ที่อยู่อาศัย และการใช้หนี้เดิม ที่น่าสนใจ คือ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี 45.7% เคยประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ ไม่เคยมีปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ 54.3% เนื่องจาก 34.5% ยอมรับว่ารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มี 10.5% คนในครอบครัวตกงาน/เกษียณอายุ และมี 0.7% มีเหตุฉุกเฉินทำให้เงินขาดมือ

ด้านรายได้ของแรงงานค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย มาจาก 29.9% จากราคาสินค้าแพงขึ้น มี 26.5% จากภาระหนี้มากขึ้น มี 22.3% จากรายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาของเพิ่ม มี 13.3% จากดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยการแก้ปัญหารายได้ไม่พอจ่าย พบว่า 30.9% จะเลือกกู้ยืมเงินในระบบ มี 17% หาอาชีพเสริม มี 16.6% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง มี 15.7% กู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงขึ้นกว่าปี 2566 มาอยู่ที่ประมาณ 9.7% ด้วย

ทั้งนี้ สำหรับในวันหยุดแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมนี้ คาดว่าจะทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 2,117 ล้านบาท ขยายตัว 2.4% เทียบกับปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 2,067 ล้านบาท ทำสถิติการใช้จ่ายสูงสุดในรอบนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 หรือช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย 48.4% ไปซื้อของ ซึ่งน้อยกว่าปี 2566 ที่อยู่ 49.2% มี 40.2% พักผ่อนอยู่บ้าน ซึ่งมากขึ้นจากเดิมที่ 25.9% มี 27.3% ทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งลดลงจากเดิม 29% มี 13.9% ไปท่องเที่ยว 13.9% ซึ่งลดลงจากเดิม 34.2% มี 13% ไปสังสรรค์ 13% ซึ่งลดลงจากเดิมที่ 25% และมูลค่าการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงานใกล้เคียงเดิม เฉลี่ยที่ 2,655 บาทต่อคน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles