ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยร้อง “เทมู” ส่อสะเทือนตลาดออนไลน์ เล็งขอพบนายกฯ ขอแนวทางรับมือ

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยร้อง “เทมู” ส่อสะเทือนตลาดออนไลน์ เล็งขอพบนายกฯ ขอแนวทางรับมือ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ได้รับเรื่องปัญหาทุนจีนเข้ามารุกตลาดไทย เดือดร้อนต่อธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และขอให้สมาพันธ์เป็นตัวกลางในการประสานงานกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้เร่งป้องกันและแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ร้องขอกำลังถูกทุนจีนเข้ามารุกธุรกิจในไทย คือ ธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะจีนศูนย์เหรียญ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยี่ห้อคนไทยถูกปลอมสินค้าและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เข้าใจว่าผลิตโดยบริษัทคนไทย แต่มีการผลิตและนำเข้าจากจีนและจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หลังลูกค้าที่ซื้อไปร้องเรียนมากับบริษัทผู้ผลิต (ยาสีฟันยี่ห้อคนไทย) จึงรู้ว่าถูกปลอมสินค้าและไม่ได้ขายผ่านแพลตฟอร์ม

แม้แต่งานรับเหมาต่อเติมและก่อสร้างบ้าน อีกธุรกิจที่นายทุนจากจีนมาตั้งบริษัท นำเข้าและใช้สินค้าผลิตจากจีนเป็นหลัก ร้านอาหารทั่วไปเจอในลักษณะจับจองพื้นที่ตามตลาดนัดและแผงขายของทั่วไปแต่เป็นสินค้าจากจีน รวมถึงภาคเกษตร นอกจากล้ง ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยนานแล้ว กำลังขยายไปถึงคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง (ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า) เข้าไปตีเหมาราคาและจ้างปลูกผลไม้และสินค้าเกษตร ที่กังวลคือจ้างนอมินีซื้อที่ดินเพื่อเพาะปลูกแทนการทำสัญญาซื้อกับผู้ปลูกคนไทยโดยตรง ขณะนี้กำลังเจอปัญหาหอมแดง กระเทียมไทย ที่แหล่งผลิตในภาคเหนือ มีผลผลิตล้นตลาด จากผลผลิตปีนี้สูงและบางส่วนเจอลักลอบจากชายแดน จนกระทบต่อราคาผผลิตในประเทศ

ตอนนี้หลายธุรกิจไม่แค่แพลตฟอร์มออนไลน์ “เทมู” ที่รูปแบบทำธุรกิจเหมาทั้งระบบ กำลังเป็นปัญหาของธุรกิจไทยกำลังถูกฆ่าตัดตอน รัฐจะอ้างว่าเป็นเสรีการค้า เป็นคนละเรื่อง เปิดเสรีการค้าก็ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และอุตสาหกรรมหรือธุรกิจในประเทศต้องประสบความเดือดร้อน รัฐบาลปล่อยปัญหาไปเรื่อยๆ ธุรกิจไทยคงปิดตัวลง เอสเอ็มอีไทยก็ยังเจอปัญหาเดิม คือ เข้าไม่ถึงแหล่งทุน แม้รัฐออกซอฟต์โลนแสนล้านบาท หรืออนุมัติ 5 หมื่นล้านให้ บสย.ค้ำสินเชื่อเอสเอ็มอี ก็ติดเกณฑ์เดิมๆ คือ นิยามขนาดเอสเอ็มอีแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน และยังเลือกปล่อยกู้ให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ได้มีการขยายถึงเอสเอ็มอีใหม่ที่แข็งแรง ตั้งใจทำธุรกิจ แค่ติดเรื่องขาดสภาพคล่องจากวิกฤตสะสมตั้งแต่โควิด ก็มีการร้องมาถึงสมาพันธ์ที่แบงก์จะโทรไปถามลูกค้าที่แข็งแรงอยู่ว่าจะให้กู้เพิ่มผ่านมาตรการรัฐที่ออกมา แต่รายที่ยื่นกู้แบบขาดสภาพคล่องจริงๆ กลับไม่ได้รับการพิจารณา

ด้านน.ส.กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อีคอมเมิร์ซ) กล่าวว่า กรณีแพลตฟอร์ม “เทมู” ของจีน ที่เปิดตัวใหม่ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะร้านค้าเอสเอ็มอี เนื่องจากขายสินค้าราคาถูก และส่งคืนสินค้านานกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ภายใน 90 วัน ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นอยู่ที่ประมาณ 14 วัน คาดว่าจะทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น โดยอยากให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงผลสะเทือน รวมถึงภาครัฐในการเร่งหาวิธีการรับมือ ซึ่งภายในเดือนกันยายนนี้สมาคมจะร่วมกับทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายด้านอีคอมเมิร์ซช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสู้กับสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ขณะที่ได้ร่วมกันทำโฟกัสกรุ๊ป เพื่อรวบรวมทำเป็นข้อมูลเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles