ผู้ว่าแบงก์ชาติจุดพลุห่วง หนี้ครัวเรือนคนไทยโตไม่หยุด อาจจบไม่สวยเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ความกินดีอยู่ดีของประชาชนในฝั่งการเงินนั้น ธปท. มองว่าหนีไม่พ้น 2 เรื่อง คือรายได้ของคนต้องเพียงพอกับรายจ่ายระยะยาว และ หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน เรื่องรายได้ของคนต้องเพียงพอต่อรายจ่ายโดยรวมนั้น หากดูในภาพรวมของประเทศ จะเห็นว่ารายได้ของประเทศเติบโตช้า ในขณะที่ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เคยอยู่ที่ 4-5% นั้น แต่ในช่วงหลังลดลงมาอยู่ที่ 3% ซึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องประสิทธิภาพแรงงานที่ไม่เติบโต และอัตราการเติบโตของแรงงานที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับในเชิงโครงสร้างแล้ว เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3% บวกลบ

ถามว่า 3% พอไหม คำตอบสั้นๆ คือ ไม่พอ 3% เป็นอัตราการเติบโตที่เราจะเห็นในประเทศที่เขารวยๆกันแล้ว อย่างเกาหลีใต้ แต่เราในฐานะประเทศที่รายได้ยังต่ำอยู่ เราต้องการการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนที่สูงกว่านี้ และ 3% ที่เราโตหรือโตมาในอดีตนั้น ประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตค่อนข้างกระจุกตัว โดยเฉพาะในช่วงหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง คนที่มีรายได้สูงได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวที่สูงกว่า และการบริโภคที่ฟื้นตัว ก็กระจุกตัวในกลุ่มรายได้สูง

โดย 40% ของการบริโภคที่โตในปี 2566 มาจากการบริโภคเพียง 10% ของกลุ่มรายได้ที่สูง สะท้อนว่าการฟื้นตัวไม่ค่อยทั่วถึงทั้งในแง่ครัวเรือน และในแง่ของกลุ่มด้วย เพราะในภาพธุรกิจ เราเห็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคต่างๆ หลายภาคไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้น ส่วนหนึ่งมาจากการอุปสงค์ และเรื่องโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป หลายภาคเจอการแข่งขัน โดยเฉพาะจากจีนที่หนักขึ้นกว่าเดิม ทำให้การฟื้นตัวรอบนี้ ไม่ดีเหมือนรอบก่อนๆ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในเรื่องหนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1 ปีนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.8% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่ ธปท.อยากเห็น สิ่งที่น่าเป็นห่วงและทำให้การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทยยากกว่าประเทศอื่นที่มีหนี้สินครัวเรือนในระดับสูงเช่นกัน คือ หนี้สินครัวเรือนของไทยถึง 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ หรือเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างสูง

ประเทศอื่นๆที่เขามีหนี้ครัวเรือนสูง หลักๆจะเป็นหนี้กู้มาซื้อบ้าน พวกนี้มีข้อดี คือ ถ้าราคาบ้านเพิ่มขึ้น ฐานะการเงินโดยรวมจะไม่แย่ขนาดนั้น เพราะสินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้ที่มีอยู่ แต่บ้านเราหนี้ส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง วิธีที่จะแก้จริงๆ จึงต้องทำให้รายได้เพิ่มขึ้น การแก้จึงยาก และต้องใช้เวลา ไม่มี magic solution ที่จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้เร็วนายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในช่วงหลัง อาจดูต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่า ราคามันลง เพราะตัวเลขเงินเฟ้อตอนที่เกิด แล้ว ราคาของมันขึ้น และเราไม่ได้เห็นราคาลง ราคามันขึ้นค้างเติ่งอย่างนั้น ค่าครองชีพของคน ก็ค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น ราคาอาหาร ของทุกอย่างที่เราบริโภค ไข่ไก่ หมู เห็ด เป็ด ไก่ เงินเฟ้อขึ้น ราคาขึ้น แต่ตอนนี้เงินเฟ้อชะลอลงมา ไม่ได้หมายความว่า ราคาจะลงมา ค่าครองชีพจะลงมา คนก็เลยรู้สึกว่ามีความลำบาก

หนี้สินก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิด หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าระดับที่ควรมีอยู่สำหรับเสถียรภาพของประเทศ โดยเกณฑ์ตัวเลขที่ต่างประเทศใช้และอยากเห็น คือ 80% ต่อจีดีพี และหากหนี้สินครัวเรือนยังเติบโตไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จบไม่ดี เช่นเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เพราะถ้าเหยียบเบรก เร็วและแรงเกิน เศรษฐกิจจะสะดุด เรื่องหนี้ เราจึงต้องดูแลหนี้ใหม่ ให้โตในระดับที่เหมาะสม ที่สำคัญต้องแก้กรรมเก่า หรือหนี้เก่าที่มีอยู่

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles