ฝ่ายบริหารค่ายรถโฟล์คสวาเกนประชุมเครียดกับพนักงานโรงงานกว่า 21,000 คน แจงยอดขายรถห่างเป้าครึ่งล้านคัน

นายโอลิเวอร์ บลูเม ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ และนายอาร์โน แอนท์ลิทส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงิน หรือซีเอฟโอ โฟล์คสวาเกน เอจี ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และในยุโรป พร้อมฝ่ายบริหาร ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับพนักงานโรงงานโฟล์คสวาเก้นที่เมืองโวฟล์เบิร์ก จำนวนมากมายถึง 21,000 คน ซึ่งมีจำนวน 16,000 คนอยู่ด้านในของโรงงาน ในขณะที่อีกกว่า 5,000 คน ยืนติดตามชมการถ่ายทอดสดด้านนอกของอาคารโรงงาน ซีเอฟโอ กล่าวว่า ความต้องการซื้อรถยนต์ในทวีปยุโรปยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งจะเห็นได้จากยอดการผลิตและจัดส่งรถยนต์ทั่วภูมิภาคยุโรปทำได้เพียงแค่ 2 ล้านคัน ทำให้ยังห่างจากยอดการจัดส่งรถยนต์ที่ทำสถิติสูงสุดในช่วงที่ภาวะตลาดรถยนต์เป็นไปตามปกติ

ซีเอฟโอ โฟล์คสวาเกน เอจี กล่าวว่า หากมองเฉพาะยอดขายของรถยนต์แบรนด์โฟล์คสวาเก้น ซึ่งเป็นแบรนด์หลักของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปนั้น มียอดขายที่ห่างจากเป้ามากถึง 500,000 คัน ซึ่งเทียบเท่าได้กับกำลังการผลิตรถยนต์จำนวน 2 โรงงานของโฟล์คสวาเก้นรวมกัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากทั้งภาวะตลาดรถยนต์ในยุโรปไม่ฟื้นตัวอย่างที่คิดรวมถึงการแข่งขันจากผู้ผลิตรถยนต์ในเอเชียโดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีน โฟล์คสวาเก้น มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัดลดค่าใช้จ่ายในเวลาเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่าเดิมเดิม

ขณะที่ ซีอีโอ โฟล์คสวาเกน เอจี กล่าวว่าจากการประเมินสถานการณ์ไม่คิดว่ายอดขายรถยนต์ของโฟล์คสวาเก้น จะสามารถฟื้นกลับมาได้ ในช่วงระยะเวลาจากนี้จนถึงระยะกลาง จึงทำให้ต้องมีการพิจารณาตัดลดค่าใช้จ่ายในช่วง 1 ถึง 2 ปีจากนี้ไป ด้วยการปรับปรุงกลยุทธ์ในการผลิตรถยนต์

ด้านแดเนียลลา คาวัลโล หัวหน้าสภาสหภาพแรงงาน ซึ่งอยู่ในที่ประชุมดังกล่าวได้เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารได้ทำลายความเชื่อมั่นอย่างมากมาย การออกมาเปิดเผยข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาปิดสองโรงงานของโฟล์คสวาเกน มีความหมายไม่แตกต่างจากการประกาศสถานะล้มละลาย นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ซีอีโอเปิดเผย แชะอธิบายเหตุผลที่ทำไมโฟล์คสวาเกน ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 5,000 ล้านเหรียญยูโร หรือกว่า 189,000 ล้านบาท เพื่อไปพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับบริษัทประเภทสตาร์ทอัพที่ผลิตรถกระบะไฟฟ้ายี่ห้อริเวียนในสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่บริษัทควรจะปกป้องพนักงานหรือแรงงานชาวเยอรมนี

สำหรับสถานการณ์การผลิตรถยนต์ของค่ายรถโฟล์คสวาเก้น พบว่าในปี 2023 ที่ผ่านมา โฟล์คสวาเก้นสามารถผลิตรถยนต์ได้เพียง 9 ล้านคัน จากกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมดที่สามารถทำได้ถึง 14 ล้านคัน ห่างจากเป้าหมายการผลิตรวมอยู่ที่ 36% ของทั้งหมด ปัจจัยลบที่โฟล์คสวาเก้น เผชิญล้วนเกี่ยวข้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งสิ้นได้แก่ค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ ค่าใช้จ่ายพลังงานและค่าใช้จ่ายแรงงานรวมถึงพนักงาน ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของโฟล์คสวาเก้น ลดลง 1.5% จากที่เคยทำกำไรได้ถึง 3.8% ในปีที่แล้ว ลงมาเหลือเพียง 2.3% ในปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โฟล์กสวาเก้น เอจี เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาสั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 1 แห่ง และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 1 แห่ง ทั้งหมดอยู่ในประเทศเยอรมนี หากปิดทั้ง 2 โรงงานจริง จะกลายเป็นการปิดโรงงานรถยนต์ครั้งแรกและเป็นประวัติศาสตร์ในเยอรมนี รวมถึงเป็นครั้งแรกใน 87 ปีของการก่อตั้งโฟล์คสวาเกน เอจี เป็นต้นมา รวมถึงจะยกเลิกโครงการจ้างงานมั่นคงกับสหภาพแรงงานในเยอรมนีที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 1994 ถึงปี 2029 รวมเป็นระยะเวลา 35 ปี

ทั้งนี้ โฟล์คสวาเก้น ซึ่งเป็นแบรนด์หลัก จะเป็นแบรนด์แรกในกลุ่มที่จะต้องเข้าสู่โครงการตัดลดค่าใช้จ่ายตามเป้าหมายที่ 10,000 ล้านยูโร หรือ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 385,000 ล้านบาทภายในปี 2026 ขณะที่ราคาหุ้นของโฟล์คสวาเกน เอจี ทรุดต่ำมากต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทฯ หดหายถึงเกือบ 1 ใน 3 หรือเกือบ 33% ใน 5 ปีผ่านมาติดต่อกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles