ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้นำตราสารหนี้ของประเทศอินเดียทยอยเข้ามารวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Government Bond Index-Emerging Markets) หรือ (GBI-EM) มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ 28 มิถุนายน 2024 เป็นต้นไป นอกจากนี้ จะปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนของตลาดตราสารหนี้อินเดียในสัดส่วน 1% ต่อเดือน ไปจนถึงสูงสุดที่ระดับ 10% ในวันที่ 31 มีนาคม 2025
ดังนั้น ธนาคารฯ ต้องตัดลดน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ในหลายประเทศตามการคำนวนสัดส่วนในดัชนีตราสารหนี้สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่สำคัญ ทำให้กองทุนตราสารหนี้ต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนตลาดตราสารหนี้ตามน้ำหนักใหม่หลังจากได้เพิ่มตราสารหนี้อินเดียเข้ามา ส่งผลเกิดเงินทุนต่างชาติที่ถือลงทุนตราสารหนี้ในประเทศที่ถูกลดน้ำหนักลงไหลออกจำนวนมาก
สำหรับตราสารหนี้ของประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มี 6 ประเทศ คือ ไทย แอฟริกาใต้ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และสโลวัก ในส่วนของตราสารหนี้ไทยนั้น ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เปิดเผยว่าตราสารหนี้ไทยถูกลดลงราว 1.60% แอฟริกาใต้จะลดลง 1.44% และโปแลนด์จะลดลง 1.41% ที่สำคัญ จะมีเงินต่างชาติขายตราสารหนี้และโยกเงินออกจากใน 3 ประเทศดังกล่าว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้แอฟริกาใต้ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 173,900 ล้านบาท โปแลนด์ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 122,100 ล้านบาท และประเทศไทย 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 118,400 ล้านบาท ดังนั้น ตลาดตราสารหนี้ประเทศเหล่านี้ยังเป็นกลุ่มที่จะสูญเสียผลประโยชน์มากที่สุดจากการนำตราสารหนี้ของอินเดียเข้าสู่ดัชนีในครั้งนี้
ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เปิดเผยต่อไปว่า ตราสารหนี้ไทยมีความเปราะบางมากเป็นอันดับที่ 4 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติจึงทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินโลก ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค จึงแนะนำให้ลดน้ำหนัก หรือ Underweight การลงทุนในตราสารหนี้ของไทย โดยลดน้ำหนักให้น้อยกว่าน้ำหนักที่มีอยู่เดิมในดัชนี GBI-EM
ในทางกลับกัน ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ไม่มีการลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศจีน อินโดนีเซีย และเม็กซิโก และทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวยังคงมีน้ำหนักการลงทุนเต็มเพดานสูงสุดที่ 10% ทำให้ไม่สูญเสียประโยชน์ด้านราคาตราสารหนี้ ซึ่งมีผลน้อยที่สุดจากการนำตราสารหนี้อินเดียเข้าสู่ดัชนีดังกล่าว
นักลงทุนต่างชาติได้ใส่เงินเข้าไปลงทุนถือครองตลาดตราสารหนี้ของอินเดียล่วงหน้ามาได้ระยะหนึ่งแล้วราว 32-40% ของยอดรวมการลงทุนในตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ 20,000-25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 740,000-925,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มนำตราสารหนี้อินเดียเข้าสู่ดัชนี GBI-EM ดังกล่าว พบว่าตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 เป็นต้นมา มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนอยู่แล้ว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 300,000 ล้านบาท